ปวดคอ

อาการปวดคอเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เนื่องจากกิจกรรมของคนเราต้องทำในท่านั่ง ทำให้คอต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักจากศีรษะตลอดทั้งวัน รวมทั้งคอยังเป็นอวัยวะที่สามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ทั้งก้ม เงย เอียง และหมุน ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้พบปัญหาปวดคอได้ 50%


สาเหตุ

  1. ลักษณะท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
    • นั่งทำงานด้วยโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่ได้รัดับสัมพันธ์กับสรีระร่างกาย
    • เอียงคอคุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน
    • ทำงาน / เล่นคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
    • นอนคว่ำหน้าเป็นประจำ หรือเงยคอทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
  2. ภาวะข้อเสื่อม / ข้ออักเสบ อาการข้อเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกและข้อต่อจะมีหินปูนมากพอหรือมีโรคข้อบางชนิด เช่น รูมาตอยด์ ก็อาจทำให้ปวดคอได้เช่นกัน
  3. ภาวะเครียดทางจิตใจ อาจมีสาเหตุจากหน้าที่การงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งนานผิดปกติ มีอาการปวดคอและศีรษะแถวท้ายทอยได้
  4. อุบัติเหตุบริเวณคอ ภาวะดังกล่าวทำให้คอต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เอ็นหรือกล้ามเนื้อต้องถูกยืดอย่างมากจนเกิดอาการฉีกขาด เกิดอาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็งจนเคลื่อนไหวไม่ถนัด หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุรุนแรงอาจมีกระดูกคอหักหรือเคลื่อนที่ได้
  5. สาเหตุอื่นๆ เช่น มีกระดูกคอผิดปกติแต่กำเนิด สายตาผิดปกติ เป็นต้น

อาการ

ปวดตึงหรือตื้อบริเวณคอ อาจร้าวมาที่บ่า สะบักหรือแขน ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงร่วมกับอาการชา เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง


การรักษา

เมื่อมีอาการปวดคอควรหยุดพัก ประคบคอด้วยความร้อนหรือความเย็นประมาณ 10-20 นาที หรือใช้เครื่องพยุงคอหรือผ้าขนหนูม้วนที่หนาและยาวพอที่จะรับน้ำหนัก พันรอบคอไว้เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวและลดแรงกดจากน้ำหนักของศีรษะ อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพริน เป็นต้น ถ้าหากว่ารับประทานยา 5-7 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์


การป้องกันการปวดคอ

จัดท่าในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น ไม่นอนคว่ำเป็นประจำ ระวังและหลีกเลี่ยงอิริยาบถและท่าทางที่ต้องการก้มและเงยคอบ่อย

ท่านอน ท่านอน ไม่ควรหนุนหมอนที่แข็งหรือนุ่มเกินไป ควรใช้หมอนหรองที่ใต้ต้นคอให้ใบหน้าขนานกับเตียงพอดี
ท่านั่งทำงาน ท่าทางการทำงาน จัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้ได้ระดับสัมพันธ์กับสรีระร่างกาย โดยให้หลังพิงพนักเก้าอี้ กรณีใช้คอมพิวเตอร์ให้ปรับจอภาพให้อยู่ในระดับสายตา แขนแนบลำตัวและควรวางบนที่วางแขน และระดับเข่าต่ำกว่าระดับสะโพกเล็กน้อย และควรปรับเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ เน้นให้แนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวตรงตลอด

การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น

การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น อาจทำภายหลังจากประคบอุ่น เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้เนื้อเยื่อต่างๆ มีความยืดหยุ่นดีขึ้นและบรรเทาอาการปวดด้วย


ท่าบริหารคอ ท่าที่ 1 ใช้มือซ้ายจับที่บริเวณศีรษะเหนือหูด้านขวาดึงศีรษะไปทางด้านซ้าย จนรู้สึกตึงบริเวณคอและบ่า นับค้างไว้ 1-10 ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ทำสลับทางด้านขวา
ท่าบริหารคอ ท่าที่ 2 ใช้มือซ้ายจับมือขวาแล้วดึงลง พร้อมกับเอียงศีรษะไปทางซ้ายจนรู้สึกตึงบริเวณคอและบ่า นับค้าง 1-10 ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ทำสลับทางด้านขวา
ท่าบริหารคอ ท่าที่ 3 ใช้มือขวาจับข้อศอกซ้ายแล้วดึงข้ามลำตัว พร้อมกับหันศีรษะไปทางซ้ายจนรู้สึกตึงบริเวณคอและบ่า นับค้าง 1-10 ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง ทำสลับทางด้านขวา

การบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อความแข็งแรง

ควรเริ่มต้นทำเมื่ออาการปวดคอลดลง โดยเกร็งกล้ามเนื้อคอต้านแรงมือ ดังรูป ขณะทำคออยู่ในท่าตรงตลอดเวลา นับ 1-10 ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

ท่าบริหารคอ ท่าที่ 1 ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่หน้าผากพร้อมออกแรงกดไปทางด้านหลัง เกร็งศีรษะต้านแรงไว้ ขณะออกกำลังให้คออยู่ในท่าตรง
ท่าบริหารคอ ท่าที่ 2 ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่ท้ายทอยพร้อมออกแรงกดไปทางด้านหน้า เกร็งศีรษะต้านแรงไว้ ขณะออกกำลังให้คออยู่ในท่าตรง
ท่าบริหารคอ ท่าที่ 3 ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางด้านขวาวางบริเวณขมับ พร้อมออกแรงกดไปทางด้านซ้าย เกร็งศีรษะต้านแรงไว้ขณะออกกำลัง ให้คออยู่ในท่าตรง ทำสลับกับทางด้านซ้าย

Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย