ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแก้ปวดหลังที่ต้นเหตุ

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดหลังร้าวลงขา ปวดหลังส่วนล่าง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบประคับประคอง ร่วมกับมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ โดยเทคนิคการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ทางศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธนนำมาใช้ในการรักษานี้ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 8 มิลลิเมตร สามารถเข้าถึงจุดที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง และลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงได้มาก พร้อมด้วยเทคนิคระงับความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลถึงอาการปวด สามารถฟื้นตัวในระยะสั้น และกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง


โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คืออะไร?


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูก ซึ่งทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมสภาพและเสียความยืดหยุ่น เมื่อมีแรงมากระแทกจะทำให้เกิดการนูน หรือฉีกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความรู้สึกชาบ่อย ๆ บริเวณขา น่อง และเท้า คล้ายเหน็บชา และอาจรุนแรงถึงขั้นเดินต่อไม่ได้ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าไม่ขึ้น บางคนก็ควบคุมการขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะได้ลำบากขึ้น

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือการผ่าตัดกระดูกทับเส้น เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยจะนำเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออก ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หมอนรองกระดูกเสื่อม การบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็น กระดูกสันหลังคด หรือการกดทับจากถุงน้ำข้อต่อกระดูกสันหลัง ที่ส่งผลให้รู้สึกปวดหลังร้าวลงขา ปวดน่องเวลาเดิน มีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงปัญหาทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานานทุเลาหรือหายไป

> กลับสารบัญ


อาการที่ควรเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ต้องผ่าตัดไหม ? การผ่าตัดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือ ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ต่อเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดหลังร้าวลงขา
  • ปวดร้าวลงมาถึงบริเวณก้นกบ ต้นขา น่อง หลังเท้า ฝ่าเท้า หรือนิ้วเท้า
  • การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เหน็บชาบริเวณขา
  • มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง
  • มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง ได้แก่ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบประคับประคอง อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ

> กลับสารบัญ


วิธีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


วิธีผ่าตัดหมอนรองกระดูก วิธีผ่าตัดหมอนรองกระดูก

แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ การรักษาด้วยวิธีประคับประคองไม่เป็นผลสำเร็จ มีอาการปวดเรื้อรัง อาการขาอ่อนแรงชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ อุจจาระได้ โดยวิธีการผ่าหมอนรองกระดูกหลังทับเส้นประสาทจะแบ่งการรักษาตามโรค และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ได้แก่

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้อง Endoscope

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้อง Endoscope โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ศัลยแพทย์ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อ ส่วนที่ดีเพื่อเปิดทางให้เข้าไปตัดหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก บางครั้ง อาจต้องขยายแผลผ่าตัดเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีที่สุดในการผ่าตัด

แล้วการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อันตรายไหม? การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ศัลยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 8 มิลลิเมตร โดยเลนส์อยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้มองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่มีปัญหาได้ โดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก และเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ในการผ่าหมอนรองกระดูกหลังได้ชัดเจนมากกว่า ส่งผลให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กทำให้เกิดการบาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อยกว่า เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดน้อยลง และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ข้อดีของการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป คือ แผลผ่าตัดเล็ก อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดในระยะสั้น สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายน้อยลง


การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion)

การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) หรือการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว (TLIF) จะรักษาในกรณีหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ จนมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือทรุดตัวลงจนมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดหลังช่วงเอวอย่างรุนแรง หรือมีอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป


การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยกล้องขยาย (Microdiscectomy)

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยกล้องขยาย (Microdiscectomy) หรือการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้องไมโครสโคป (Microscopic Spine Surgery) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงช่วยในการผ่าตัด ถือว่าเป็นเทคโนโลยีในการผ่าตัดกระดูกสันหลังชนิดรุกล้ำน้อย มีประสิทธิภาพในการมองเห็นโครงสร้างกระดูกสันหลัง เส้นประสาท และเนื้อเยื่อโดยรอบได้อย่างชัดเจน โดยจะพิจารณาการรักษาในกรณีมีภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาท เป็นต้น


การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียม (Artificial Disc Replacement)

การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียม (Artificial Disc Replacement) เป็นการผ่าตัดผ่านทางกล้อง Microscope เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เสื่อมหรือเสียหายออก และแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกเทียม หรือเป็นชิ้นส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองก็ได้ การผ่าตัดนี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสามารถในการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง และลดอาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท

> กลับสารบัญ


ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเสียเลือด ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ เป็นต้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่สามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้ หากเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

วิธีดูแลตัวเองระหว่างที่พักฟื้นหลังการผ่าตัด

ในช่วงแรกหลังผ่าตัดหลัง แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะสอนวิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง การออกกำลังกาย เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง ควรลุกขึ้นเดินช้า ๆ เป็นระยะ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนในท่าเดิมนานเกินไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ โดยผู้ป่วยบางรายอาจสามารถเดินได้ภายใน 1 วัน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก อย่างการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ที่ลดการทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ในระยะสั้น

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 2-6 สัปดาห์ ก่อนจะกลับมาทำกิจกรรมเบา ๆ ได้ และอาจใช้เวลาถึง 3-6 เดือนเพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างเต็มที่ ระหว่างนี้ควรงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังมาก เช่น การก้มตัว การบิดตัว นานประมาณ 3 - 6 เดือน แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

> กลับสารบัญ


ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททางเลือกการรักษาที่ตรงจุด

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงจากการกดทับเส้นประสาท หลังผ่าตัดต้องดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาที่ไหนดี รักษาที่ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน โดยทีมแพทย์เฉพาะทางจะมีการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อออกความคิดเห็นสำหรับทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุด หรือ Last Opinion ให้กับผู้ป่วยเพื่อหาแนวทางการรักษาที่แท้จริงอย่างตรงจุด พร้อมนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation เข้ามาช่วยในการผ่าตัดแสดงภาพกระดูกสันหลังอย่างละเอียด เสริมศักยภาพการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย