ผ่าตัด “ก้อนเนื้อที่เต้านม” โรคที่พบบ่อยในหญิงสาว

ศูนย์ : ศูนย์รักษ์เต้านม, ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย :

ผ่าตัด “ก้อนเนื้อที่เต้านม” โรคที่พบบ่อยในหญิงสาว

โรคที่เกี่ยวกับก้อนเนื้องอกที่เต้านมถือเป็นโรคที่เกิดได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งหลายคนพอได้ยินคำว่าก้อนเนื้องอกเต้านม อาจมีข้อสงสัยหรือเข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกับมะเร็งเต้านมหรือซีสต์เต้านมหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วในบรรดาก้อนเนื้อที่เต้านมมีโรคกลุ่มหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ

  • เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา (Fibroadenoma)
  • ซีสต์เต้านม (Fibrocystic change)
  • มะเร็งเต้านม (Breast cancer)

โดยซีสต์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีสต์เต้านมมักจะเจ็บที่ก้อน ในขณะที่กลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็งมักจะไม่ค่อยเจ็บ โดยพบว่าร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลายคนจึงมีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้


การวินิจฉัยก้อนเนื้องอกเต้านม

โดยหลักๆ แล้วจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการ ดังนี้

  1. แมมโมแกรม (Mammography) ซึ่งสามารถตรวจพบ มะเร็งขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถคลำได้ แต่ไม่เหมาะกับการทำในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเนื้อเต้านมยังแน่น จึงอาจทำให้มองก้อนหรือสิ่งผิดปกติได้ไม่ชัด
  2. อัลตราซาวด์ (Ultrasound) มักทำร่วมกับแมมโมแกรม ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปีแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์เพียงอย่างเดียว
  3. การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะนำเซลล์ไปตรวจ (Fine Needle Aspiration) ร่วมกับการตรวจลักษณะอาการและการตรวจร่างกาย ก็จะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ก้อนที่ตรวจพบเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นซีสต์เต้านมหรือมะเร็งเต้านม

> กลับสารบัญ


แนวทางวิธีการรักษา

เนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา

ก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดามักจะไม่หายเอง ดังนั้นจึงต้องผ่าตัดออก โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดออกตั้งแต่ตอนที่ก้อนนั้นยังไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะจะได้ไม่ต้องเกิดแผลจากการผ่าตัดขนาดใหญ่หลังการผ่าตัด ทั้งนี้ไม่ใช่การผ่าตัดที่เร่งด่วน สามารถนัดวันเวลาที่แพทย์ และผู้ป่วยมีความพร้อมได้ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก อาจต้องผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคที่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านม ชนิดธรรมดาที่มีขนาดใหญ่ออกโดยใช้แผลขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น


ซีสต์เต้านม

แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์น้ำหรือเป็นซีสต์เนื้อ หากเป็นซีสต์น้ำจะรักษาด้วยวิธีการเจาะแล้วดูดออก แต่หากเป็นซีสต์เนื้อก็จำเป็นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าเป็นแค่ก้อนซีสต์จริงๆ ไม่ใช่เนื้อร้ายจึงจะทำการผ่าตัดออกไป


มะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านมจะอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแนวทางการรักษามีทั้งการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน และการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)


> กลับสารบัญ


ใครบ้างที่ควรได้รับการผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม

  • ผู้เป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา
  • ผู้เป็นซีสต์เต้านม ที่มีลักษณะเป็นซีสต์เนื้อ
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
  • ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม โดยการผ่าตัดจะต้องมีข้อบ่งชี้หรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงบางคนเท่านั้นเท่านั้น

> กลับสารบัญ




การเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด

การเตรียมตัวขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของก้อนเนื้อที่จะตัดออก โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาชาฉีดหรือทาเฉพาะที่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำ สามารถทำในคลินิกผู้ป่วยนอกและกลับบ้านได้ภายหลังทำหัตถการ

> กลับสารบัญ


การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด

  • ปิดผ้าและปลาสเตอร์ที่แผลไว้ หรือทำแผลตามคำแนะนำ จนกว่าจะมาพบแพทย์อีกครั้งใน 7-10 วันเพื่อตัดไหม
  • สามารถอาบน้ำได้ถ้าวัสดุที่ปิดแผลเป็นแบบกันน้ำ
  • งดว่ายน้ำหรือแช่ตัวในอ่างอาบน้ำประมาณ 1 สัปดาห์

> กลับสารบัญ


ผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแล้วหายขาดหรือไม่

เมื่อผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านมออกไปแล้วมีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำที่เดิมหรือมีก้อนขึ้นที่อื่นอีก ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่เป็นเนื้องอกเต้านมชนิดธรรมดา

> กลับสารบัญ




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย