เส้นเลือดขอด คลายทุกข้อสงสัย บอกลาขาไม่สวยช่วยให้สุขภาพดี

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย : นพ. วัชระ อัครชลานนท์

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด หรือ Varicose Veins คือ ภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดสะสมจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม เส้นเลือดขอดมักเป็นที่ขาหรือเส้นเลือดขอดที่เท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น


อาการของเส้นเลือดขอด


อาการของเส้นเลือดขอด อาการของเส้นเลือดขอด

ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนัง โดยเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฏเป็นสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา จากนั้นจะมีอาการเส้นเลือดขอดอื่น ๆ ตามมา ได้แก่

  • มีอาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา
  • กล้ามเนื้อในขาส่วนล่างเป็นตะคริวหรือสั่นเป็นจังหวะ โดยเฉพาะช่วงเวลาตอนเย็น หรือ ขณะหลับ
  • ขาส่วนล่างบวม แสบร้อน
  • เมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานานจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น
  • มีอาการคันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น
  • มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน
  • มีอาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรต้องได้รับการรักษา

ทั้งนี้เส้นเลือดขอดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ขา โดยเกิดได้ทั้งบริเวณน่องหรือด้านในของขา แต่บางครั้งเส้นเลือดขอดก็อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนอื่นของร่างกายเช่นกัน เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก เป็นต้น

> กลับสารบัญ


สาเหตุของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร เส้นเลือดขอด เกิดจากผนังหลอดเลือดและลิ้นควบคุมการไหลของเลือดที่อ่อนแอ เนื่องจากภายในหลอดเลือดจะมีลิ้นเล็ก ๆ คอยเปิดให้เลือดไหลผ่านแล้วปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย โดยผนังหลอดเลือดที่บางครั้งอาจขยายตัวออกจนสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นสาเหตุให้ลิ้นที่คอยเปิดปิดนี้อ่อนแอลง เมื่อลิ้นหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย ส่งผลให้เลือดสะสมในหลอดเลือดและเกิดอาการบวมพองตามมานั่นเอง

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดขอด


เส้นเลือดขอดเกิดจาก เส้นเลือดขอดเกิดจาก
  • เพศหญิง เส้นเลือดขอดมีโอกาสเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยนักวิจัยชี้ว่าสาเหตุอาจมาจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ไปทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดได้
  • พันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอดจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้
  • อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง เป็นเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดี
  • น้ำหนักตัวมาก จะทำให้เกิดแรงดันบนหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการรั่วของเลือดยิ่งขึ้น
  • อาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด เพราะเลือดจะไหลได้ยากขึ้นเมื่อยืนเป็นเวลานาน
  • หญิงตั้งครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก แต่จะนำไปสู่การตึงของหลอดเลือด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นยังสามารถทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน

> กลับสารบัญ


ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดที่ขา อันตรายไหม โดยภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดอาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดดำตื้น ๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณที่มีเส้นเลือดขอด มักมีอาการปวด บวม แดง และร้อนบริเวณเส้นเลือด อาจเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กในหลอดเลือดดำที่อักเสบ
  • ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep Vein Thrombosis - DVT) แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำลึก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวด บวม และสีผิวเปลี่ยนแปลง ลิ่มเลือดที่หลุดออกจากหลอดเลือดดำลึกอาจไหลไปยังปอด ทำให้เกิดภาวะ ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ผิวหนังอักเสบ การไหลเวียนเลือดไม่ดีในระยะยาวอาจทำให้ผิวหนังบริเวณข้อเท้าและน่องเกิดการอักเสบ มีผื่น คัน ผิวแห้ง และสีผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
  • แผลหลอดเลือดดำ ผิวหนังที่อักเสบและขาดเลือดเลี้ยงอาจเกิดเป็นแผลเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณเหนือข้อเท้าด้านใน แผลเหล่านี้หายยากและอาจมีการติดเชื้อได้
  • การแตกของเส้นเลือดขอดอาจทำให้มีเลือดออก ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่รุนแรง แต่ก็ควรได้รับการดูแล

> กลับสารบัญ


การวินิจฉัยเส้นเลือดขอดทำอย่างไร?

การวินิจฉัยเส้นเลือดขอดโดยทั่วไปจะเริ่มจากการซักประวัติ อาการ และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ จากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินสภาพของหลอดเลือดดำ โดยมีวิธีการหลัก ๆ ดังนี้

  • แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ เช่น ปวดขา หนักขา บวม คัน หรือแสบร้อนบริเวณขา รวมถึงระยะเวลาที่เป็น
  • แพทย์จะให้ผู้ป่วยยืน เพื่อตรวจดูลักษณะของเส้นเลือดขอด เช่น ขนาด สี การโป่งพอง และการคดเคี้ยว อาจมีการคลำบริเวณขา เพื่อประเมินความผิดปกติของหลอดเลือด
  • การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือด (Doppler Ultrasound หรือ Duplex Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพของหลอดเลือดดำและประเมินการไหลเวียนของเลือด ช่วยประเมินขนาดและความรุนแรงของเส้นเลือดขอด รวมถึงตรวจหาลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้น

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

วิธีการรักษาเส้นเลือดขอด


การรักษาเส้นเลือดขอด การรักษาเส้นเลือดขอด

ปัจจุบันมีวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีประสิทธิภาพหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และความรุนแรงของเส้นเลือดขอด รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดังนี้

การรักษาแบบประคับประคอง

เส้นเลือดขอดที่ขา รักษายังไง เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำวิธีรักษาเส้นเลือดขอด ด้วยตัวเอง โดยให้ใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอดก่อนรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยใส่รัดขาไว้ขณะทำงาน ยืน นั่ง เดิน ออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องใส่ขณะนอน เพื่อช่วยบีบไล่ให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อขาพาเลือดเคลื่อนตัวกลับสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น


การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

ส่วนผู้ป่วยเส้นเลือดขอดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยตนเองหรือการใช้ถุงน่องรัดขา หรือมีอาการเส้นเลือดขอดที่รุนแรงกว่านั้น อาจได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เส้นเลือดขอด รักษาด้วยการฉีดยาเข้าหลอดเลือดที่ขอด
  • การฉีดยาที่ทำให้เป็นลักษณะโฟมก่อนเข้าหลอดเลือดที่ขอด เพื่อปิดการไหลเวียนเลือด
  • การผูกและดึงหลอดเลือดดำออก แพทย์จะทำการผูกและตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
  • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปที่เส้นเลือดขอดเพื่อให้เส้นเลือดหดตัวและยุบลง
  • การใช้สายสวนหลอดเลือดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือ Radio Frequency (RF) ใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุทำลายผนังเส้นเลือดขอด เหมาะสำหรับหลอดเลือดดำขอดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยแพทย์จะสอดสายสวนขนาดเล็ก ผ่านทางผิวหนังเข้าไปในหลอดเลือดดำขอดที่ต้องการรักษา จากนั้นปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ ก็จะสร้างความร้อนที่ผนังหลอดเลือดดำ ทำให้ผนังหลอดเลือดหดตัวและเกิดการทำลาย เมื่อผนังหลอดเลือดถูกทำลาย เส้นเลือดขอดนั้นก็จะค่อย ๆ ฝ่อตัวลงไปในที่สุด การใช้สายสวนหลอดเลือดด้วยคลื่นความถี่วิทยุเป็นวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีระยะพักฟื้นที่สั้น

การผ่าตัดเส้นเลือดขอด (Surgery)

ในกรณีที่เส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่และมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อมัดและตัดหลอดเลือดดำที่ผิดปกติออก ทั้งนี้วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดมีหลายวิธี ตั้งแต่การดูแลตัวเองเบื้องต้น ไปจนถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เลเซอร์ คลื่นวิทยุ หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาเพิ่มเติม : ผ่าตัดส่องกล้อง

> กลับสารบัญ


การป้องกันเส้นเลือดขอด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดด้วยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อ โดยมีการปฏิบัติตัวดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและใช้เกลือปรุงอาหารน้อย
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • พักขาด้วยการยกขาขึ้นสูง
  • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงหรือถุงเท้ารัด ๆ
  • เปลี่ยนท่าทางการนั่งและยืนอยู่เสมอ

> กลับสารบัญ


เส้นเลือดขอดแบบไหนควรไปพบแพทย์

อาการต่อไปนี้เป็นสัญญาณเตือนที่คุณควรไปพบแพทย์โดยเร็ว หากสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอด ได้แก่

  • ปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณขาอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังบริเวณเส้นเลือดขอดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สีคล้ำลง หรือเกิดแผล
  • มีเลือดออกจากเส้นเลือดขอดที่ไม่หยุด
  • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด (อาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตันในปอด)

> กลับสารบัญ


เส้นเลือดขอด รู้ทัน รับมือได้

อย่าปล่อยให้เส้นเลือดขอดบั่นทอนความมั่นใจของคุณ! หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าเป็นเส้นเลือดขอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม โดยศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนครธน นอกจากทำการรักษานิ่วในถุงน้ำดี ผ่าตัดริดสีดวงและการผ่าตัดไส้เลื่อน เรายังพร้อมด้วยทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ที่ให้บริการวินิจฉัย และรักษาโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดโดยเฉพาะ มีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้คุณกลับมามีขาที่สวย สุขภาพดี และมั่นใจได้อีกครั้ง

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย