มาตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพานกันเถอะ!

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

มาตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพานกันเถอะ!

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย แค่เดินขึ้นบันไดที่ออฟฟิศไม่กี่ขั้นก็เล่นเอาเหนื่อยจนหมดแรง สูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หรือมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ บอกเลยว่าควรมาตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายหรือวิ่งสายพาน เพราะนอกจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว


การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย คืออะไร?

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน โดยวิธีนี้นิยมนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะเมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะต้องการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ มีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดอยู่หรือไม่ หัวใจผิดจังหวะอยู่หรือเปล่า ซึ่งบางรายอาจเกิดอาการเจ็บ จุกแน่นหน้าอก ขณะทำการทดสอบได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคหัวใจอยู่/p>

วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจกล่าวได้ว่าวิธีนี้เป็นการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกายนั่นเอง

ทั้งนี้ ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ เพราะคนไข้บางรายที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ หรือมีอาการหัวใจผิดปกติมาก่อน อาจเป็นอันตรายได้

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการตรวจก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนอย่างที่คิด โดยแพทย์จะให้คนไข้เริ่มเดินช้าๆ บนเครื่องวิ่งสายพานแล้วจึงค่อยๆ เร่งความเร็วขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที จนเมื่อได้ข้อมูลที่เพียงพอในการวินิจฉัยแล้ว จึงหยุดการวิ่งนั้นได้


ใครบ้างที่ควรมาตรวจ

สำหรับผู้ที่ควรมาตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ทั้งชายและหญิง ผู้ที่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการที่สงสัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น รู้สึกใจสั่นขณะออกกำลังกาย เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่แล้ว และผู้ที่มีประวัติญาติใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ หรืออัมพาต


ก่อนตรวจควรปฏิบัติดังนี้

ผู้ที่จะมาตรวจควรงดอาหาร กาแฟ และสูบบุหรี่ก่อนการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรงดรับประทานอาหารมื้อหนักๆ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ เพื่อป้องกันอาการจุก เสียด ควรสวมเสื้อที่ใส่สบายๆ และรองเท้าที่เหมาะกับการเดินหรือวิ่งออกกำลัง ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักก่อนมาทำการตรวจภายใน 12 ชั่วโมง ควรสอบถามแพทย์ถึงยาที่รับประทานอยู่ ว่าควรหยุดก่อนการทดสอบหรือไม่ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิต เป็นต้น

โรคที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นโรคที่มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อชีวิตสูง หลายคนเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกอาจไม่ได้เข้ามาพบแพทย์ทันที เพียงเพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรมาก พักผ่อนสักหน่อยเดี๋ยวก็หาย จึงเกิดความชะล่าใจ รอจนกระทั่งอาการทรุดหนักแล้ว หรือไม่ก็มักจะมาตรวจภายหลัง ซึ่งหายจากอาการนั้นแล้ว ทำให้เมื่อตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) จึงไม่พบความผิดปกติ แต่ทว่าการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่คิดว่าตนเองจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคหัวใจ ควรมาตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพานซะตั้งแต่วันนี้กันเถอะ!


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย