รู้เท่าทัน “ไวรัสตับอักเสบบี” ภัยร้ายก่อโรคตับแข็ง มะเร็งตับ

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

ไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นภัยร้ายที่มาแบบเงียบๆ โดยแฝงตัวอยู่ในสังคม และเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ หากชะล่าใจต้องมานั่งเสียใจทีหลังได้ เพราะถ้าติดเชื้อแล้วอาจรักษาหายยาก และด้วยความที่ไม่ปรากฏอาการ หรืออยู่ในช่วงโรคสงบหรือการอักเสบไม่มากมักไม่ก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจน จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


มารู้จักตับอักเสบเรื้อรังจาก "โรคไวรัสตับอักเสบบี"

โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 - 3 ล้านราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนหนึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังของตับ มีโอกาสดำเนินโรคเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมักไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อและดูการอักเสบของตับ ผู้ป่วยจำนวนมากจะทราบว่าติดเชื้อโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือการบริจาคเลือด

> กลับสารบัญ



สาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  • การติดจากแม่สู่ลูก เกิดจากการติดเชื้อขณะคลอด โดยการสัมผัสเลือดของแม่ขณะคลอด
  • ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโดยไม่สวมถุงยาง
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน หรือของใช้อื่นๆ ที่มีเลือดติดอยู่
  • ผ่านการถ่ายเลือดที่ไม่ได้ตรวจหาโรคตับอักเสบบี
  • ผ่านวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่อาจเกี่ยวข้องกับเลือด เช่น การฝังเข็ม
  • การใช้อุปกรณ์การสักที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง

> กลับสารบัญ


ทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อหรือเป็นพาหะหรือไม่

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ทั้งที่มีและไม่มีตับอักเสบส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบีในเบื้องต้นสามารถทำเองได้โดยการสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าตัวเองมีโอกาส มีความเสี่ยง หรือพบว่ามีอาการของไวรัสตับอักเสบบี ให้ไปพบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ตับและการตรวจพังผืดในตับ (Fibroscan)

> กลับสารบัญ


ใครควรไปตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  1. กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบี มะเร็งตับ ตับอักเสบหรือมีภาวะตัว ตาเหลือง เช่น มีพ่อ แม่ พี่น้องทางแม่ หรือพี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรค
  2. คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว
  3. กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป
  4. กลุ่มที่มีการสัก เจาะ ที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
  5. กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด
  6. กลุ่มคนที่อยู่ในคุก
  7. หญิงตั้งครรภ์
  8. คู่รักก่อนแต่งงาน

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นภัยร้ายต่อตับอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีนั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ แบบเฉียบพลัน (เป็นแล้วหายภายใน 6 เดือน) และแบบเรื้อรัง (เป็นนานกว่า 6 เดือน)

ไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลัน เมื่อมีการรับเชื้อไปแล้วราว 2 - 3 เดือน จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้และอาเจียน เหนื่อยง่าย บางรายมีจุกๆ บริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าตรวจดูจะมีค่า การทำงานของตับสูงกว่าปกติ อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่กลับมาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอีก

ไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังมักได้รับเชื้อ มาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารกหรือวัยเด็ก โดยได้รับจากมารดาในช่วงหลังคลอด รวมทั้งได้รับเชื้อจากคนแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เมื่อเด็กที่ได้รับเชื้อโตขึ้น จำนวนเชื้อไวรัสจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันของร่างกายพัฒนาขึ้น ร่างกายมีการต่อสู้กับเชื้อไวรัสมากขึ้น บางรายโชคดีภูมิต้านทานจัดการไวรัสสำเร็จ ก็หายได้ ขณะที่บางรายเกิด ภาวะตับอักเสบ เป็นๆ หายๆ จนกลายเป็นโรคเรื้อรังขึ้นมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 - 40 ปี อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับต่อไป

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เอง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมากๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่

หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคตับที่รุนแรง และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย ใช้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นต้น

> กลับสารบัญ



ไวรัสตับอักเสบบีป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยควรฉีดตั้งแต่ในวัยเด็กแรกเกิด ในเด็กโตและในผู้ใหญ่ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่เพราะส่วนใหญ่อาจจะมีภูมิต้านทานการติดเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งสามารถทราบได้จากการตรวจเลือดว่าควรหรือไม่ควรรับวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม (0,1,6 เดือน) สามารถสร้างภูมิต้านทานในการป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต

นอกจากนั้น เรายังสามารถป้องกันและระมัดระวังด้วยตัวเองได้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่กังวลหรือเครียดจนเกินไป สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องการเจาะหูหรือสักลาย ควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือถูกหลักอนามัย

> กลับสารบัญ


หากติดเชื้อแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำคือ พักผ่อนให้มาก ดูแล สุขภาพให้ดี ไม่นานก็หายเป็นปกติ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นแบบเรื้อรัง แพทย์ก็จะตรวจละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ทราบถึงการดำเนินของโรค และรายละเอียด ของการรับเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาอย่าง เหมาะสมต่อไป พร้อมกับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. รับประทานอาหารเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาดและครบทุกหมู่
  2. หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น รวมถึงยาสมุนไพร ยาลูกกลอนต่างๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้ รวมไปถึงเลี่ยงยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มปริมาณมากขึ้น และกดภูมิต้านทาน
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  4. ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนและตรวจอัลตราซาวนด์ทุก 6-12 เดือน

> กลับสารบัญ


แน่นอนว่าเมื่อตรวจพบไวรัสตับอักเสบบีแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก็จะช่วยลดปริมาณของไวรัสได้ ลดการอักเสบของตับ ลดพังผืดและการเกิดแผลในตับ ทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตับวายและมะเร็งตับได้ ซึ่งปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เรามียาที่ช่วยควบคุมอาการไปได้ตลอดอยู่แล้ว และหากตรวจร่างกายไปเรื่อยๆ อาจพบค่าตับที่ปกติได้ อย่างไรก็ตามห้ามเพิกเฉยต่อโรคนี้เด็ดขาด



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย