สำรวจตัวเอง คุณเข้าข่าย “ภาวะอ้วนลงพุง” หรือไม่?

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

อ้วนลงพุง

ในยุคนี้ เรามักจะได้เห็นรีวิวร้านอาหารต่างๆ เยอะแยะมากมาย ล้วนแต่ดูแล้วน่ารับประทานทั้งนั้น ทำให้สาวๆ ทั้งหลายอดใจไม่ได้ เป็นอันต้องชวนเพื่อนๆ ไปลองชิมกัน แล้วก็มักจะชอบกลับมาบ่นว่าอ้วนทุกที ซึ่งบางคนก็มีรูปร่างผอมเพรียว ทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แต่ในขณะที่บางคนอาจซ่อนรูป ซ่อนพุงอยู่ก็เป็นได้ แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าอ้วนลงพุง? แบบไหนถึงเรียกสมส่วน? ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ


ภาวะอ้วนลงพุงเป็นอย่างไร

ภาวะอ้วนลงพุง เป็นภาวะที่ระบบการเผาผลาญพลังงานผิดปกติ ทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้องหรืออวัยวะในช่องท้องมากเกินไป ส่งผลให้มีหน้าท้องยื่นออกมา ภาวะอ้วนลงพุงไม่ได้พบในเฉพาะคนอ้วนเท่านั้น ถึงแม้ว่าน้ำหนักตัวจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็สามารถเกิดโรคอ้วนลงพุงได้เช่นกัน นอกจากนี้ภาวะอ้วนลงพุงยังส่งผลให้เกิดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดและภาวะนอนกรน เป็นต้น

> กลับสารบัญ


วิธีการตรวจสอบว่าคุณเป็นภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่?

วิธีการตรวจสอบว่ามีภาวะอ้วนลงพุงอยู่หรือไม่ ให้คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI ซึ่งมีวิธีคำนวณดังนี้ นำน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง หรือ BMI = น้ำหนัก (kg) ÷ ส่วนสูง (m)2

  • หากผลออกมาน้อยกว่า 18.5 นั่นแปลว่า น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
  • หากผลออกมา 18.5 – 22.9 นั่นแปลว่า น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • หากผลออกมา 23 – 24.9 นั่นแปลว่า น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
  • หากผลออกมา 25 – 29.9 นั่นแปลว่า อ้วนระดับ 1
  • หากผลออกมา มากกว่าหรือเท่ากับ 30 นั่นแปลว่า อ้วนระดับ 2

ทั้งนี้ น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของผู้ชายที่รูปร่างสมส่วน ค่า BMI จะอยู่ที่ 22 –23 ในขณะที่หญิงที่รูปร่างสมส่วน ค่า BMI จะอยู่ที่ 19 –20

แม้ว่าค่า BMI จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมีเส้นรอบเอวที่มากเกิน มีความเป็นไปได้ว่ามีไขมันสะสมที่ช่องท้องหรืออวัยวะภายในช่องท้องมากเกินไป หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า ภาวะอ้วนลงพุง ดังนั้นจึงมีวิธีการวัดเส้นรอบเอวดังนี้

  • ท่าทางอยู่ในลักษณะการยืน
  • ใช้สายวัด วัดบริเวณรอบสะดือให้ขนานกับพื้น
  • หายใจปกติ ไม่แขม่วท้อง และสายรัดต้องไม่แน่นจนเกินไป

โดยผู้ชายควรมีรอบเอวไม่เกิน 90 ซม. หรือ 35.4 นิ้ว ส่วนผู้หญิงควรมีรอบเอวไม่เกิน 80 ซม. หรือ 31.5 นิ้ว อย่างไรก็ตาม การวัดค่า BMI เป็นการคัดกรองคร่าว ๆ เท่านั้น ควรจะตรวจมวลกล้ามเนื้อและสัดส่วนไขมันเพิ่มเติม

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

สาเหตุของภาวะอ้วนลงพุงคืออะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุงยังไม่ระบุแน่ชัด แต่อาจเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน พันธุกรรม อาหารที่รับประทาน หรือแม้แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันย่อมส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงได้

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง

  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงนั้นมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นระบบการเผาผลาญพลังงานลดลง
  • เชื้อชาติ คนผิวดำมีโอกาสเป็นภาวะอ้วนลงพุงได้มากกว่าคนผิวสีอื่น
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น หรือคนอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าคนผอม

อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนลงพุงได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด และการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย ดื่มสุราและพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง

> กลับสารบัญ


โรคอ้วนลงพุงเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?

  • โรคอ้วนลงพุง ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย เช่น หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ เลือดแข็งตัวง่าย ทำให้เกิดการอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองหรือหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
  • ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวานง่าย ไตวาย
  • เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงซึมในตอนตื่น
  • โรคความเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ปวดหลัง ปวดเอว ข้ออักเสบ
  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

> กลับสารบัญ



ภาวะอ้วนลงพุงรักษาได้

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

    หากคุณเป็นคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มสุรา ทานอาหารไม่มีประโยชน์ หรืออดอาหารโดยเฉพาะมื้อเช้า และได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง สามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดย

    • หันมาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
    • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างผักหรือผลไม้
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานโปรตีนให้เพียงพอ โดยคนต้องการโปรตีนอย่างน้อยวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ควบคุมอาหารที่มีแคลอรี่สูง ลดแป้ง
    • ลดอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
    • พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. การรักษาทางการแพทย์

    หากว่าภาวะอ้วนลงพุงนั้นอยู่ในเกณฑ์อันตราย มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน มีโรคประจำตัว หรือโรคเกี่ยวพันกับโรคอ้วน และไม่สามารถลดปริมาณไขมันได้ด้วยวิธีปกติได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลได้แก่

    • การใช้ยาลดน้ำหนัก หรือ ยาลดความอยากของอาหาร เช่น ปากกาลดน้ำหนัก ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ได้รับยารู้สึกอิ่มและรับประทานได้น้อยลง
    • การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาน้ำหนักเกินอย่างมาก ช่วยให้พื้นที่รับอาหารน้อยลง หิวน้อยลง อิ่มไวขึ้น ลดน้ำหนักได้ที่ต้นเหตุ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ และข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยดัชนีมวลกาย 37.5 ขึ้นไป หรือ ผู้ป่วยดัชนีมวลกาย 32.5 ขึ้นไป ร่วมกับมีโรคประจำตัวที่ เกี่ยวพันกับโรคอ้วน

> กลับสารบัญ


ถ้าหากว่าเราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้ยาร่วมในการรักษา ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย