แก้อาการปวดหลังเบื้องต้น ที่คุณเองก็ทำได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม

แก้อาการปวดหลังเบื้องต้น ที่คุณเองก็ทำได้

อาการปวดหลัง ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็มีโอกาสปวดหลังได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะปวดมากหรือน้อย ปวดหลังส่วนบน ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดหลังด้านข้าง บางรายปวดจนกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการปวดหลังมักไม่ได้มีสาเหตุรุนแรงและสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป และสามารถบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง

เพื่อให้สามารถคลายความปวดได้อย่างตรงจุด คุณอาจจะต้องรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังว่าเกิดจากอะไร เช่น อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง เนื่องจากการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน หรือการหักโหมออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยมีเทคนิคการเยียวยาอาการปวดหลังเบื้องต้นที่สามารถทำเองได้ ดังนี้


1. ลดอาการปวดด้วยการประคบร้อนและเย็น

สำหรับบางคนที่มีอาการปวดหลังในระยะเริ่มต้น การประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง จะช่วยลดแผลอักเสบหรือการบวมได้ด้วยการลดการไหลของเลือด การวางถุงน้ำแข็งลงบนบริเวณที่เพิ่งเริ่มปวด แบบไม่เกิน 48 ชั่วโมง สามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยให้วางไว้ 20 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง ส่วนการประคบด้วยความร้อน จะช่วยในการบรรเทาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยหาจุดที่ปวดให้เจอแล้วประคบร้อนบริเวณนั้น เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยาย เหมาะสำหรับอาการปวดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เมื่อหลอดเลือดขยาย จะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และอาการปวดจะบรรเทาลง โดยเฉพาะหลังการปวด 48 ชั่วโมงไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นความร้อนแบบแห้งหรือการแช่น้ำร้อนก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน


2. นอนราบแผ่นหลังติดพื้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง

เมื่อมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น มองหาที่นอนที่ไม่นุ่มและไม่แข็งจนเกินไป แต่มีพื้นแบนราบพอที่จะนอนลงไปได้ สบายๆ เช่น เสื่อโยคะ จากนั้นดันแผ่นหลังให้ติดพื้น แขนทั้งสองข้างอยู่แนบกับลำตัว พร้อมเกร็งหน้าท้องค้างไว้ ประมาณ 10 วินาที แล้วพัก จากนั้นทำซ้ำราว 2-3 ครั้ง ช่วยให้แผ่นหลังที่อ่อนล้า ปวดเมื่อย กลับเข้ามาอยู่ในสภาพปกติ จัดเรียงกระดูกและกล้ามเนื้อให้กลับมาเข้าที่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นท่าง่ายๆ ที่ช่วยลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ


3. ท่าโยคะนั่งไขว้ขา บิดเอว

ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดหลังส่วนล่าง เมื่อยล้า ช่วยยืดเยียดกระดูกสันหลัง เปิดหัวไหล่ คอ และสะโพก เพิ่มความยืดหยุ่นบริเวณสะโพกและกระดูกสันหลัง เริ่มจากนั่งขัดสมาธิบนพื้น ยกขาข้างขวาวางพาดทับขาซ้าย ให้ขาข้างซ้ายยังงอเข่านอนลงชิดพื้นอยู่ ขาข้างขวาตั้งเข่าขึ้น เอามือขวาแตะพื้นขวา มือซ้ายแตะท้ายทอย แล้วเอี่ยวตัวไปทางขวาให้สุด ค้างไว้ 3-5 วินาที จากนั้นกลับมาหน้าตรง วางมือซ้ายบนพื้นข้างลำตัวด้านซ้าย มือขวาแตะท้ายทอย บิดเอวไปทางขวา ค้างไว้ 3-5 วินาที จากนั้นจึงสลับขา และสลับมือ บิดเอวทั้ง 2 ข้างเหมือนเดิม เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนหลัง เลือดไหลเวียนในบริเวณหลัง เอว ได้ดียิ่งขึ้น


4. คลายปวดหลังด้วยการนวด

อาการปวดหลัง เอว และขา สามารถคลายความปวดได้ด้วยการนวด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงใช้สองมือกดและบีบเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้ต่อมและอวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น วิธีโดย ท่าแรกนั่งขัดสมาธิ กำหมัดทั้งสองวางไว้บริเวณบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด ท่าที่สองขยับกำปั้นมาบริเวณที่กลางบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด จากนั้นให้ใช้กำปั้น ทุบหรือคลึงเบาๆ ไปที่หลังตรงที่มีอาการปวด ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง


5. ควบคุมน้ำหนักตัว

น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดหลัง ดังนั้นให้พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี โดยเฉพาะที่หน้าท้อง เพราะทำให้แรงโน้มถ่วงโน้มไปข้างหน้ามากกว่า แต่คนที่ผอมก็มีโอกาสปวดหลังได้เหมือนกัน เพราะการที่ผอมมากๆ หรือมีมวลกระดูกต่ำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี


หากความปวดนั้นยังคงมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ หรือปวดหลังร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง ชาที่ขา เท้า หรือรอบทวารหนัก เนื่องจากอาจเป็นภาวะฉุกเฉินของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเคลื่อน ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์กระดูกสันหลัง ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย