โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย : นพ. นำชัย มานะบริบูรณ์

โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ประกอบด้วย อวัยวะที่มีหน้าที่สร้างปัสสาวะและขับ(urine secretion) ได้แก่ ไต (kidney) , และท่อที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะ (Urinary passage) ออกสู่ภายนอก ได้แก่ หลอดไต (ureter), ที่พักปัสสาวะ ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder) และ ท่อที่นำปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่ ท่อปัสสาวะ (urethra) โดยอวัยวะดังกล่าวจะทำงานร่วมกันเพื่อทำหน้าที่กำจัดของเสีย และรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพโดยรวม


โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย

  • โรคนิ่วในไตและท่อไต (Ureteric and Kidney Stone) เป็นการตกตะกอนของสารต่างๆ ในปัสสาวะที่สะสมจนกลายเป็นก้อนแข็งเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ไตแล้วตกลงมาอยู่ในท่อไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ต่อจากไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับนิ่วออก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง
  • โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) หมายถึง การเกิดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะรวมถึงการติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงไต ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) และโรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD) โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และผู้ประวัติครอบครัวมีภาวะไตล้มเหลว หากบิดา มารดา มีภาวะไตล้มเหลว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว หากท่านเป็นโรคไต สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวเข้ารับการตรวจ
  • โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) เกิดได้ทั้งจากนิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นนิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมดด้วยสาเหตุบางประการ เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะตีบตัน รวมถึงการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจนบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว โดยจะมีอาการขณะถ่ายปัสสาวะยังไม่ทันจะสุด สายปัสสาวะจะหยุดทันที ปวดหัวเหน่า ต้องเบ่งปัสสาวะมาก อาจมีเลือดออกเวลาปัสสาวะสุด
  • โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) โรคต่อมลูกหมากโต จะพบในผู้ป่วยเพศชายและ จะพบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น อาการของโรคต่อมลูกหมากโตที่สำคัญมีอยู่ 7 อย่างคือ ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไหลไม่แรง เวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำรอไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้วรู้สึกไม่สุด ปัสสาวะไหลๆ หยุดๆ ต้องเบ่งช่วยเวลาถ่ายปัสสาวะ และถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • มะเร็งท่อไต (Cancer of Ureter) มะเร็งไต (kidney cancer) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์ด้วยปัสสาวะปนเลือด หรือปวดเอว หรือคลำได้ก้อนที่เอว
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยสุดในกลุ่มของมะเร็งทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้ป่วยสูงอายุเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัดร่วมด้วย เราควรระมัดระวังถ้าผู้ป่วยสูงอายุมาด้วยเรื่องปัสสาวะมีเลือดปนจะต้องรีบทำการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) ปัจจุบันยังไม่ทราบวาเหตุแน่ชัดว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร แต่มีการศึกษาพบว่ามีองค์ประกอบบางอย่างที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ อายุที่พบจะพบในคนสูงอายุมากกว่า ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น เป็นต้น
  • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้เต็มที่ในขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจเกิดจากปัญหาทางกายภาพ ทางอารมณ์และจิตใจ สภาวะที่มีผลกระทบต่อสมองและการลดลงของแรงขับทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน เป็นต้น
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (OAB) เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวเพื่อขับถ่ายน้ำปัสสาวะออกมาด้วยความถี่และปริมาณที่ผิดปกติ บ่อยครั้งที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือน และในเวลาที่คุณไม่ตั้งใจที่จะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือบางครั้งอาจมีปัสสาวะเล็ดราดออกมา

> กลับสารบัญ


อาการของโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่คนทั่วไปสังเกตได้ คือ

  • มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อย ไหลๆหยุดๆ รู้สึกไม่สุด ออกน้อยหรือมากเกินไป
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ปวดหลังหรือปวดบริเวณข้างลำตัว
  • ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาล สีชมพู หรือสีขาวขุ่น
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนผิดปกติ

> กลับสารบัญ


วิธีการรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ขึ้นอยู่กับโรคที่ตรวจพบ จะมีวิธีรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะมีแนวการรักษาหลักๆ คือการให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วันขึ้นอยู่กับชนิดของยา ร่วมกับการรักษาตามอาการหากจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และพยายามดื่มน้ำให้มากๆ
  2. การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากมีเป็นนิ่วขนาดเล็ก จะเน้นติดตามอาการ และให้ยาการใช้ยาควบคุมการเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ ให้ยาขับนิ่ว และการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อ หากจำเป็นต้องผ่าตัดแพทย์จะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี ได้แก่
    • การสลายก้อนนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ
    • การส่องกล้องทางท่อปัสสาวะไปตามท่อไตเพื่อเอานิ่วในท่อไตออก (URSL)
    • การส่องกล้องผ่านผิวหนังเพื่อขจัดนิ่วในไต (PCNL)
    • การทำผ่าตัดแบบเปิด ในคนที่มีนิ่วขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผล (Open Surgery)
  3. การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
    การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต เบื้องต้นจะให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้มีลักษณะอ่อนตัวลง แต่ถ้าในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน หรือในรายที่เป็นมากๆ แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัด
    • การรักษาต่อมลูกหมากโต ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง Transurethral Resection of the Prostate (TURP) เป็นการผ่าตัดที่นำเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขวางท่อทางเดินปัสสาวะออกมา โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะจากแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อตัดและหยุดเลือดออกไปได้พร้อมกัน
    • การรักษาผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์ (Laser prostatectomy)
    • การรักษาผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยไอน้ำ (Water Vaporize prostatectomy)

> กลับสารบัญ


โรคระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพโดยรวม ฉะนั้นอย่านิ่งนอนใจ หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาล สีชมพู หรือสีขาวขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม สอบถามปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ด้านล่าง




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย