ไขข้อสงสัย? ทำไมฉีดวัคซีนแล้ว ถึงยังเป็น “ไข้หวัดใหญ่” อยู่

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย : พญ. ธนพร เอี่ยมประไพ

ไขข้อสงสัย?  ทำไมฉีดวัคซีนแล้ว ถึงยังเป็น “ไข้หวัดใหญ่” อยู่

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาแล้ว มีคำถามว่าจำเป็นต้องฉีดซ้ำไหม หรือมีคำถามว่า หากฉีดวัคซีนแล้วจะไม่เป็นหวัดเป็นเรื่องจริงหรือไม่?

เรามีคำตอบ ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไปแล้วก็ยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ แต่อาการและความรุนแรงของโรคจะน้อยลงมาก โดยภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ ได้ และสามารถป้องกันได้ปีต่อปีเท่านั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ระบาดในแต่ละปีนั้นอาจเป็นคนละสายพันธุ์


วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ปี 2022

โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ประจำปี 2022 (The 2022 Southern hemisphere influenza season) ประกอบด้วย

  1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ตระกูล Victoria (H1N1)
  2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ตระกูล Darwin (H3N2) (เปลี่ยนจากปี 2021)
  3. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Austria (B/Victoria lineage) (เปลี่ยนจากปี 2021)
  4. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Phuket (B/Yamagata lineage)

หากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปเมื่อปีที่แล้ว ทำไมปีนี้ต้องฉีดซ้ำอีก

สาเหตุเพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ การผลิตวัคซีนแต่ละปีจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัส เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุและร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคประมาณ 1 ปี จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี เพื่อจะได้ป้องกันได้อย่างต่อเนื่องและให้ร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันและปรับให้เหมาะสมกับเชื้อไวรัสในแต่ละปีด้วยเช่นกัน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณ 70 - 90% แต่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง การตอบสนองต่อวัคซีนอาจลดลง อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน โอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้


ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  • ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • สตรีตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น
  • โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  • โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กก./ตร.ม.)
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  • แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่

ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เมื่อไหร่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรค สำหรับประเทศไทยจะแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝน (ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม) และฤดูหนาว (ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม)

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถลดอัตราป่วย ลดความรุนแรงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ อัตราการเสียชีวิต



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาที่ท่านอาจสนใจเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์ของเราต่อไปโดยไม่ได้ปรับการตั้งค่าใดๆ เราเข้าใจว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา คลิกเพื่อดูข้อเพิ่มเติม