12 คำแนะนำสำหรับครูผู้สอน ในการดูแลเด็กสมาธิสั้น

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. กุลนิดา เต็มชวาลา

12 คำแนะนำสำหรับครูผู้สอน ในการดูแลเด็กสมาธิสั้น

การช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น นอกจากแพทย์จะให้ยากินเพื่อให้มีสมาธิในการเรียนแล้ว ครู และพ่อแม่มีส่วนช่วยอย่างมาก การฝึกทักษะหลายประการที่เด็กสมาธิสั้นยังขาดอยู่ ในระหว่างวัยเด็กนี้ พ่อแม่และครูจึงเป็นผู้ช่วยสำคัญ ที่จะฝึกฝนส่งเสริมให้เด็กสมาธิสั้นมีทักษะเบื้องต้นเพื่อเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาตนเองในระยะยาวต่อไป


โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ

สาเหตุโรคสมาธิสั้น มาจากสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมเรื่องสมาธิ ความจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำงานน้อยกว่าเด็กปกติ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก การทำกิจวัตรประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น

เด็กสมาธิสั้น สร้างความกลุ้มใจ และเป็นกังวลให้แก่พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นห่วงการใช้ชีวิตอนาคตของลูก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กจะต้องแยกจากพ่อแม่ และไม่ได้ดูแลตลอดเวลา ซึ่งช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียนผู้ที่จะต้องดูแลเด็กก็คือ ครู ดังนั้น เราได้มีคำแนะนำในการดูแลเด็กสมาธิสั้น ดังนี้

  1. จัดที่นั่งให้เด็กนั่งหน้าชั้นเรียนหรือใกล้ครู เพื่อจะได้คอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจในการทำงานที่ดีขึ้น และให้นั่งท่ามกลางเด็กเรียบร้อยที่ไม่คุยระหว่างเรียน ไม่ควรให้เด็กนั่งหลังห้องหรือใกล้ประตูหน้าต่าง เนื่องจากมีโอกาสถูกกระตุ้นให้เสียสมาธิได้ง่าย
  2. วางกฎระเบียบ และตารางกิจกรรมต่างๆ ของห้องเรียนให้ชัดเจน
  3. เขียนการบ้านหรืองานที่เด็กต้องทำให้ชัดเจนบนกระดานดำ พยายามสั่งงานด้วยวาจาให้สั้นที่สุด โดยสั่งตามขั้นตอนให้ทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป นอกจากนี้หลังจากสั่งเด็ก ควรถามเด็กกลับด้วยว่าครูสั่งอะไร เพื่อตรวจสอบความเข้าใจและยืนยันในคำสั่ง
  4. ช่วยดูแลให้เด็กทำงานเสร็จ และคอยตรวจสมุดเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบถ้วน
  5. ให้การชื่นชมทันทีที่เด็กตั้งใจทำงาน หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
  6. เมื่อเด็กเบื่อหน่ายเริ่มหมดสมาธิ ควรหาวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า เช่น เคาะโต๊ะนักเรียนเบาๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ให้ช่วยครูแจกสมุดหรือช่วยลบกระดานดำ เป็นต้น หากเด็กสมาธิสั้นมาก ควรแบ่งทอนเวลางานแต่ละอย่างให้สั้นลง เพื่อให้เกิดความพยายามทำงานให้เสร็จทีละอย่างซึ่งใช้เวลาไม่นาน โดยเน้นเรื่องความรับผิดชอบที่จะต้องทำงานให้เสร็จเป็นสำคัญ
  7. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก่อกวนที่เป็นอาการของโรคสมาธิสั้น อาจใช้วิธีพูดเตือนเบนความสนใจให้ทำกิจกรรมอื่น หรือแยกให้อยู่สงบตามลำพังประมาณ 5 นาที ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิ ดุว่า หรือลงโทษรุนแรง ซึ่งจะเป็นการเร้าให้เด็กเสียการควบคุมตัวเองมากขึ้น
  8. เมื่อเด็กทำความผิดให้ใช้วิธีการตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ทำงานที่ค้างต่อให้เสร็จหลังเลิกเรียน
  9. ช่วยเหลือเป็นพิเศษทางด้านการเรียน เช่น การสอนเสริมแบบตัวต่อตัวกลุ่มเล็กๆ ในรายที่มีความบกพร่องในทักษะด้านการเรียนหรืออาจอนุญาตให้ใช้เทปบันทึกเสียงเพื่อกลับไปฟังซ้ำ และอนุญาตให้พิมพ์งานส่งในกรณีที่ปัญหาลายมือหรือเขียนหนังสือช้ามากๆ
  10. ครูควรให้เวลาที่ใช้ในการสอบสำหรับเด็กสมาธิสั้นนานกว่าเด็กปกติ
  11. มองหาจุดดีของเด็ก สนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถ และช่วยให้เพื่อนยอมรับ
  12. ติดต่อกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็ก

การดูแลเด็กสมาธิสั้น

การดูแลเด็กสมาธิสั้น สำคัญที่สุด คือ ต้องมีทัศนคติต่อเด็กในทางบวก ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กไม่ได้แกล้งซน แกล้งดื้อ จากนั้นใช้คำแนะนำดังกล่าวในข้างต้น ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของเด็กไป เด็กก็จะสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ได้ เรียนหนังสือได้อย่างปกติ และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย