4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. วาสนา ปัญจชัยพรพล

4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์

เด็กเป็นวัยที่เปราะบาง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคุณแม่ถึงประคบประหงมลูกน้อยเป็นอย่างดี คุณแม่บางคนถึงขั้นที่ว่าลูกจะหยิบจับอะไรเป็นอันต้องหยิบยื่นทิชชู่เปียกหรือแอลกอฮอล์ให้ล้างมือก่อนทุกครั้งไป เพราะเกรงว่าลูกจะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แล้วคุณแม่รู้หรือไม่ว่าหากลูกน้อยของคุณมีอาการดังกล่าวจะต้องทำอย่างไร? โรคท้องเสียในเด็กอันตรายหรือไม่? อาการหนักถึงขั้นไหนจึงควรพามาพบแพทย์? ไปหาคำตอบจากกุมารแพทย์ได้เลยค่ะ


โรคท้องเสียในเด็ก

โรคท้องเสียในเด็ก เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัสและพยาธิ จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป หากถ่ายติดต่อกันหลายครั้งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในช่วงแรก และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง

ทั้งนี้ เด็กที่มีภาวะขาดน้ำจะมีอาการงอแง กระสับกระส่าย กระหายน้ำ เซื่องซึม เบ้าตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ร้องไห้ ไม่มีน้ำตา ริมฝีปากและลิ้นแห้ง ผิวแห้ง และปัสสาวะน้อยลง


การรักษาโรคท้องเสียในเด็ก

หลักในการรักษาโรคท้องเสียในเด็ก แพทย์จะประเมินเด็กจากภาวะขาดน้ำเพื่อให้สารน้ำทดแทนและให้ยารักษาตามอาการ ในกรณีที่เด็กสามารถรับประทานได้ สามารถให้ยาผงเกลือแร่ (ORS) กลับไปรับประทานที่บ้านได้ แต่ถ้าเด็กอาเจียนมาก หรือมีภาวะขาดน้ำระดับปานกลางถึงมาก แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและปรับสมดุลเกลือแร่ในเลือด

นอกจากนี้จะให้การรักษาตามอาการร่วมด้วย ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ควบคู่กับการเช็ดตัว ถ้าอาเจียนให้รับประทานยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการปวดท้อง ปวดบิด ปวดบีบ ให้ทานยาลดการบีบตัวของลำไส้ กรณีรอบทวารหนักแดงจากอุจจาระเป็นกรด ให้ทายาซิงค์เพส (Zinc paste) เพื่อป้องกันอุจจาระทำให้เกิดการระคายเคืองผิวรอบปากทวารหนัก กรณีมีเกลือแร่ในเลือดผิดปกติต้องให้สารน้ำและเกลือแร่เพื่อปรับสมดุลเกลือแร่ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ในการติดเชื้อบางชนิด ได้แก่ เชื้ออหิวาต์ เชื้อบิด พยาธิบางชนิด


เด็กที่เป็นโรคท้องเสียและมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์

  1. มีภาวะขาดน้ำ เช่น กระหม่อมบุ๋ม เป้าตาลึก ซึมลง ปัสสาวะน้อย
  2. ถ่ายอุจจาระมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
  3. อาเจียนบ่อย ป้อนน้ำเกลือไม่ได้หรือดื่มน้ำเกลือแร่ได้ แต่ยังอ่อนเพลีย
  4. มีไข้สูง ชัก ท้องอืด หายใจหอบ

การป้องกันโรคท้องเสียในเด็ก

  • ส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • รับประทานทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดไม่มีแมลงวันตอม
  • หากจะเก็บอาหารควรเก็บไว้ในตู้เย็น และต้องอุ่นให้ร้อนก่อนให้เด็กรับประทานทุกครั้ง
  • ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนให้เด็กรับประทาน
  • กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
  • ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • ผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากการใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
  • สอนเด็กให้รู้จักล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ
  • การให้วัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้า ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

จะเห็นได้ว่า โรคท้องเสียในเด็กเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสชนิดต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าเด็กจะหยิบจับอะไรก็จะเอาเข้าปาก ก็อาจทำให้เชื้อโรคติดมากับของเล่นที่ป่นเปื้อน และอาหารที่ไม่สะอาดได้ ดังนั้นการดูแลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย