NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมที่เราสร้างขึ้นมาเอง

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมที่เราสร้างขึ้นมาเอง

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของการรับประทานอาหารเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ก่อให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ กลุ่มโรค NCDs ตามมา ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่จะมีการดำเนินของโรคอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนทวีความรุนแรงขึ้น หากคุณเป็นกลุ่มโรค NCDs เพียงโรคเดียวก็เพียงพอที่จะทำเกิดปัญหาด้านสุขภาพของคุณได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา


ทำความรู้จักกลุ่มโรค NCDs

NCDs (Non-Communicable Diseases) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถติดต่อกันได้ แม้มีการสัมผัส คลุกคลี หรือมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ แต่เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินของโรคอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนทวีความรุนแรง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเกิดการเรื้อรังของโรคตามมาด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง และพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้


สาเหตุการก่อกลุ่มโรค NCDs

กลุ่มโรค NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือบางครั้งเรียกว่า “โรคที่เราสร้างขึ้นมาเอง” เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเองที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่

  • พฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อาทิ รับประทานอาหารรสจัดเกินไป เช่น เค็มจัด หวานจัด มันจัด การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารปิ้งย่าง และไม่ได้รับประทานผักผลไม้อย่างเพียงพอ ทำให้มีกลูโคส คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และโซเดียมในเลือดสูง
  • การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และความเครียดสะสม จะทำให้ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติ และเจ็บป่วยได้ง่าย
  • การไม่ออกกำลังกาย ทำให้มีไขมันสะสมในร่างกายมาก และระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี
  • การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและในปริมาณมาก ส่งผลให้ตับอักเสบได้
  • การสูบบุหรี่ ทำให้ถุงลมภายในปอดเสียหาย

กลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผู้ที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดังกล่าวจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มโรค NCDs ได้มากกว่าผู้อื่น ได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคไต
  • โรคมะเร็ง
  • โรคทางพันธุกรรม
  • โรคตับอักเสบ ไขมันพอกตับ ตับแข็ง
  • โรคสมองเสื่อม
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคถุงลมโป่งพอง

ความรุนแรงของกลุ่มโรค NCDs

กลุ่มโรค NCDs แม้จะไม่เป็นโรคที่ติดต่อ แต่โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรคกลุ่ม NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 340,000 คนต่อปี หรือ 75% ของการเสียชีวิตในแต่ละปีของคนไทยทั้งหมด คิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี และส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี


ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs ได้อย่างไร

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด 7 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุง ทั้งนี้เราสามารถป้องกันและห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs ได้ โดยเริ่มจากตัวเรา นั่นคือการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวการของการก่อโรค เช่น

  1. ลดหรือเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป เช่น เค็มจัด หวานจัด มันจัด
  2. ลดการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง หรือ อาหารที่มีไขมันสูง พร้อมทั้งรับประทานผัก ผลไม้ อย่างเพียงพอ
  3. ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
  5. ผ่อนคลายความเครียด
  6. หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง
  7. ควบคุมน้ำหนักตัว
ปัญหากลุ่มโรค NCDs ถือเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้นหากเราเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเอง รวมทั้งหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้ได้





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย