ปวดหลังร้าวลงขาเสี่ยงกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท วัยไหนก็เป็นได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

ปวดหลังร้าวลงขาเสี่ยงกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท วัยไหนก็เป็นได้

ความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทก็เป็นอีกโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดทรมานไม่แพ้โรคทางกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ โดยโรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในวัยรุ่ย วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทรมานแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่และมีความสุขได้ จนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง


กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมตามอายุ การใช้งานกระดูกสันหลังหนัก ใช้งานผิดท่า หรือเกิดอุบัติเหตุจนส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง จนเกิดความความไม่มั่นคงของแนวกระดูกสันหลัง และส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการเคลื่อนออกมา ซึ่งเมื่อกระดูกสันหลังเกิดการเคลื่อนตัวออกจากกันจะทำให้เกิดการตีบแคบของโพรงเส้นประสาทขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการกดทับเส้นประสาทในที่สุด


อาการโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนจะมีอาการหลัก คือ อาการปวดหลัง และอาการปวดร้าวลงขา โดยจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอาการก็ได้ แต่หากมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท จะมีอาการปวดหลังเวลาก้มหรือแอ่นหลัง และปวดหลังร้าวลงขาและมีอาการชาร่วมด้วย อาจจะเป็นเพียงหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้างร่วมกันก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะสะโพกและต้นขา รวมทั้งมีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และมีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ


สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในวัยรุ่นอายุน้อยและวัยผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ได้แก่

  1. กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งบริเวณข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้แนวกระดูกสันหลังไม่มั่นคงและเคลื่อนจนไปกดทับเส้นประสาท
  2. กลุ่มอายุน้อย ในวัยรุ่น วัยทำงาน อายุประมาณ 20-50 ปี มักเกิดจาก
      การแตกหักของชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของชิ้นกระดูกสันหลังตั้งแต่วัยเด็ก
    • อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลังโดยตรง
    • พฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การยกของหนักและนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นประจำ การเคลื่อนไหวผิดท่าแบบฉับพลัน
    • การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกไปที่กระดูกสันหลังโดยตรง เช่น ยิมนาสติก หรือยกน้ำหนัก
    • โรคร่วมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อกระดูกสันหลัง โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ โรคมะเร็งต่างๆ

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนประกอบด้วยการตรวจร่างกาย และทดสอบการเหยียดตรงของขา จากนั้นแพทย์จะทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนของกระดูก การแตกหักอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น และอาจส่งตรวจ CT Scan และการทำ MRI ในกรณีที่สงสัยภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาท



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

แนวทางการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการโดยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ หากผู้ป่วยมีอาการชาที่ขาอาจต้องฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณเส้นประสาทที่ถูกกระดูกสันหลังกดทับด้วย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก เพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง เป็นต้น

กรณีรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังเคลื่อนมาก หรือมีแนวโน้มจะเคลื่อนมากขึ้นในอนาคต มีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง หรือมีอาการเส้นประสาทโดนกดทับอย่างรุนแรง เช่น อาการชา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง มีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท


การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบ เพื่อลดอาการปวดร้าวลงขา ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปัญหาการควบคุมระบบขับถ่าย โดยเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็ก เพียง 8 มิลลิเมตร ลดอาการแทรกซ้อน ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว โดยการผ่าตัดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ที่มีอาการปวดหลังน้อยและกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่มาก เพราะการผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถแก้ไขความไม่มั่นคงของแนวกระดูกสันหลังได้
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป โดยมักจะทำเพื่อกำจัดอาการปวดจากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังและจัดแนวกระดูกสันหลังให้กลับมาอยู่แนวปกติให้มากที่สุด การเชื่อมข้อกระดูกสันหลังมักจะทำกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว แต่ก็สามารถใช้กับกระดูกสันหลังส่วนคอและอกได้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการเชื่อมยึดกระดูกสันหลังมักจะมีปัญหาการดึงรั้งของเส้นประสาท หรือไม่ก็มีอาการปวดรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการปกติได้

โดยในกรณีทั่วไป การยึดตรึงกระดูกนี้จะเหมือน “การซ่อม” โดยการนำสกรูโลหะ (มักทำด้วยไททาเนียม) ก้านโลหะ แผ่นโลหะ หรือหมอนรองกระดูกเทียมมายึดข้อกระดูกสันหลังทำให้กระดูกเกิดการประสานเชื่อมกัน การประสานของกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ ในการผ่าตัดนั้นแพทย์จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยแสดงภาพกระดูกสันหลังอย่างละเอียด ทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง เป็นแบบสามมิติ พร้อมทั้งวางแผนตำแหน่งวางสกรูอย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์ผ่าตัดใส่สกรูและโลหะดามกระดูกได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ ลดความเสี่ยงจากการใส่สกรูผิดตำแหน่งที่อาจส่งผลให้กระดูกสันหลัง ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบประสาท และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดได้ ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กช่วยลดความบอบช้ำของผู้ป่วยทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม



เมื่อกระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคงก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ หากมีปวดหลัง ปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงสะโพกหรือลงขา หรือร่วมกับมีอาการชาหรืออ่อนแรง ให้รีบเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย