กลืนลำบาก สำลักบ่อย สูงวัยต้องระวัง

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ, ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย :

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ กลืนลำบาก หรือความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น


กลืนลำบากคืออะไร

การกลืนลำบากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. กลืนติด มักจะใช้กับสิ่งที่เป็นของแข็งมากกว่า เช่น กินข้าวแล้วติดคอ
  2. กลืนสำลัก จะเป็นพวกอาหารเหลว น้ำ กลืนแล้วก็มีการสำลัก หรือไอออกมา

สาเหตุสำคัญการกลืนลำบาก

ภาวะกลืนลำบากเริ่มตั้งแต่ช่องปาก มาช่องคอ หลอดอาหาร ไปจนถึงกระเพาะอาหาร สาเหตุก็ไล่ตามลงไปเลย ตั้งแต่ในช่องปาก บางคนฟันไม่มี ต้องใส่ฟันปลอม บางคนเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง หรือป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้การรับรู้ต่างๆ ของหลอดอาหารผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะสำลักได้ หรือการมีเนื้องอก มีก้อนเนื้อต่างๆ อยู่ตามหลอดอาหาร หรือยาวไปจนถึงกระเพาะอาหาร ทำเกิดการกลืนติด กลืนลำบากได้ ซึ่งแต่ละสาเหตุต้องแยกกัน โดยภาวะกลืนติด กลืนลำบากของแต่ละสาเหตุนั้น จะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางสาเหตุมักจะกลืนติดของแข็งก่อน บางสาเหตุก็อาจจะกลืนติดของเหลวก่อน ซึ่งแพทย์จะประเมินหาสาเหตุ แล้วจึงหาทางรักษาแก้ไข


สำลักเงียบอันตรายอย่างไร

ในคนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยเจอ แต่จะเจอบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น บางคนกินลูกชิ้นเข้าไปหรือกินน้ำเข้าไป พอกลืนเข้าไป ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อยู่ที่คอ มีระบบรับรู้ความรู้สึกอยู่ที่คอ ร่างกายจะไอขับออกมา เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นลงไปที่หลอดลมหรือไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ แต่ในผู้สูงอายุหลายๆ กลุ่มที่เป็นโรคบางอย่างนั้น พอระบบรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้สูญเสียไป บางคนกินลูกชิ้นเข้าไป ลูกชิ้นหลุดเข้าไปในหลอดลมแล้วยังไม่รู้ตัวเลย ไม่มีการไอออก ไม่มีการสำลักออก ซึ่งเสี่ยงมากต่อการเสียชีวิต


สังเกตอาการผู้สูงวัยกลืนลำบาก

ควรจะเป็นข้อสังเกตของญาติ เพราะผู้สูงอายุจะไม่ค่อยบอกว่ามีปัญหาเรื่องการกลืน เขาอาจจะมีอาการกินข้าวไม่ค่อยลง น้ำหนักลด ให้ลองสังเกตดู ถ้าผู้สูงอายุกินข้าวเหลือ เพราะกินอาหารแข็งๆ ไม่ได้ ก็ต้องมาพบแพทย์หาสาเหตุกัน ส่วนพวกอาการสำลัก ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ พอกินน้ำหรืออาหารเหลวๆ แล้วเริ่มไอ ถ้าญาติสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ได้ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรจะมาพบแพทย์


ข้อปฏิบัติเมื่อมีปัญหาเรื่องการกลืน

  1. ต้องมีสมาธิ : เวลากินอาหารอย่าทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ดูทีวีไปด้วย พูดคุยไปด้วย เพราะผู้สูงอายุต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควรในการเคี้ยวและกลืนอาหาร การที่ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการสำลักหรือกลืนติดได้
  2. อย่ากินข้าวคำ-น้ำคำ : เวลาผู้สูงอายุกินอาหาร อย่ากินข้าวคำ-น้ำคำ เพราะลำคอจะปรับสภาพไม่ได้ เช่น เดี๋ยวกินน้ำ เดี๋ยวกินข้าว พอปรับสภาพไม่ได้ก็เกิดการสำลักเกิดขึ้น
  3. ปรับสภาพอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน : ผู้สูงอายุบางคนกินน้ำแล้วสำลัก เพราะกินเข้าไปแล้วมันลงไปเร็วเกิน พอผู้สูงอายุกลืนไม่ทันก็ไหลลงหลอดลม ดังนั้นจึงควรทำอาหารให้หนืดขึ้น ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการกิน แทนที่จะใช้แบบยกดื่มก็ลองเปลี่ยนเป็นหลอดเล็กๆ ให้ดูด ก็จะลดโอกาสสำลักของผู้สูงอายุได้
  4. หากมีอาหารทั้งหมดที่กล่าวมา ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ, ศูนย์กระดูกและข้อ

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย