การฉายรังสี บำบัดรักษาโรคมะเร็ง

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง รพ.นครธน

บทความโดย : นพ. คมกฤช มหาพรหม

การฉายรังสี บำบัดรักษาโรคมะเร็ง

การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี หรือ การฉายแสง (radiotherapy) เป็นการนำเอารังสีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถใช้รักษาเพียงลำพังหรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ได้ เช่น ผ่าตัด ยาเคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นต้น รังสีรักษาสามารถใช้ได้ในหลายระยะของโรคมะเร็งและใช้ได้เพื่อการรักษาแบบหวังให้หายขาด หรือ รักษาเพื่อ ประคับประคอง



รู้จักการฉายรังสี

การฉายรังสี หรือ การฉายแสง (radiotherapy) คือ การใช้รังสีพลังงานสูงฉายตรงไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้นๆ โดยการฉายแสงจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งที่ได้รับรังสีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง

ปัจจุบันเทคโนโลยีของรังสีรักษาพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งของการรักษาได้แม่นยำ โดยรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสี ลดผลข้างเคียงลงและควบคุมโรคได้มากขึ้น การรักษามะเร็งด้วยวิธีนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และชนิดของมะเร็งด้วย และสุขภาพของผู้ป่วย

> กลับสารบัญ


ประเภทของการรักษาด้วยรังสี

การรักษาด้วยรังสีแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. การฉายรังสีรักษาระยะไกลจากภายนอก (External beam radiotherapy) เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงจากเครื่องฉายรังสี ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นของรังสีตามความหนาและขนาดของก้อนมะเร็ง เรียกว่า Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT) ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงต่ออวัยวะปกติรอบๆ ผ่านชั้นผิวหนังมาสู่ก้อนมะเร็งที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นปริมาณรังสีที่ก้อนมะเร็ง และหลบเลี่ยงอวัยวะปกติให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด
  2. การฉายรังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
    • การฝังแร่แบบถาวร เป็นการฝังแร่ต้นกำเนิดของรังสีซึ่งมีขนาดเล็กและให้ปริมาณรังสีต่ำไว้ภายในก้อนมะเร็งแบบถาวร ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
    • การฝังแร่แบบชั่วคราว เป็นการฝังแร่ต้นกำเนิดของรังสีภายในหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็งแบบชั่วคราว โดยแร่กัมมันตรังสีจะให้อัตราปริมาณรังสีขนาดสูง มักใช้รักษามะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก

> กลับสารบัญ


การฉายรังสีสามารถรักษามะเร็งบริเวณใดได้บ้าง

  • บริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งในโพรงจมูกและไซนัส มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งในช่องปาก มะเร็งในลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งต่อมน้ำลายและไทรอยด์
  • บริเวณทรวงอก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งระบบน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม
  • บริเวณช่องท้อง ได้แก่ มะเร็งที่กระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งระบบน้ำเหลืองในช่องท้อง
  • บริเวณท้องน้อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก

> กลับสารบัญ


ก่อนการรักษาด้วยการฉายรังสี

การรักษาด้วยการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะอธิบายถึงบทบาทของรังสีรักษา ข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา และภายหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา โดยก่อนเริ่มการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการทบทวนประวัติการรักษา ตรวจร่างกายทั่วไป ผลการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผลเลือด ผลการส่องกล้อง ผลเอกซเรย์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการฉายแสง ตลอดจนตรวจยืนยันผลชิ้นเนื้อและระยะของโรคอีกครั้ง

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการรักษาด้วยการฉายรังสี

  1. การฉายรังสีรักษาระยะไกล โดยขณะฉายรังสีผู้ป่วยจะนอนอยู่นิ่งๆ นักรังสีการแพทย์จะจัดท่าและตำแหน่งของการฉายรังสีให้ตรงกับที่วางแผนไว้ จากนั้นจะทำการฉายรังสี รังสีที่ให้แต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 2-10 นาที ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ แต่ใช้เวลาทั้งสิ้นตั้งแต่การจัดท่าและตำแหน่งจนเสร็จวันละประมาณ 20- 25 นาที ทำการฉายสัปดาห์ละ 5 วัน โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4-8 สัปดาห์ตามแต่ชนิดของมะเร็งและแผนการรักษาของแพทย์ ในขณะที่ฉายรังสีจะไม่ไม่ความรู้สึกเจ็บปวด ไม่มีแสง ไม่มีเสียง และไม่มีความร้อนบริเวณที่ฉายรังสี หลังจากฉายรังสีผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรังสีตกค้างอยู่ในตัวผู้ป่วย
  2. การฉายรังสีรักษาระยะใกล้ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และการฝังแร่กัมมันตรังสีอาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

> กลับสารบัญ


ระหว่างการรักษา

ในระหว่างการฉายรังสี ควรพบแพทย์รังสีรักษาประมาณสัปดาห์ละครั้ง โดยแพทย์จะประเมินการตอบสนองต่อการรักษา ผลข้างเคียง พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติตัว แต่หากมีอาการผิดปกติก็สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ทันที นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด

> กลับสารบัญ


หลังการรักษาด้วยการฉายรังสี

หลังครบแผนการรักษาของแพทย์ ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับช่วงฉายรังสีต่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนัดให้มาตรวจประเมินผลการรักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังฉายรังสีเสร็จ จากนั้นจะนัดตรวจทุก 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดของดรคมะเร็งและขั้นตอนการรักษา จากนั้นการติดตามผลการรักษาจะห่างขึ้นเป็น 4-6 เดือนจนกระทั่ง 5 ปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการปกติและไม่มีอาการของโรค แพทย์จะนัดติดตามห่างขึ้นเป็นปีละครั้งตลอดไป

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตามในช่วงของการรักษาผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียจึงควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหนื่อยเกินไปได้ตามปกติ พร้อมทั้งควรทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้พลังงานสูง เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ ปลา และควรดื่มน้ำมาก ๆ รวมไปถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย