ฉีดสีผ่านข้อมือ ขาหนีบ ตรวจหาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

ฉีดสีผ่านข้อมือ ขาหนีบ ตรวจหาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

เมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วคาดว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน แพทย์จะแนะนำให้ฉีดสีหัวใจผ่านทางข้อมือหรือขาหนีบ เพื่อดูหลอดเลือดหัวใจว่าตีบหรือตันที่จุดใด ก่อนที่จะตัดสินใจให้การรักษาอย่างทันท่วงที


การฉีดสีสวนหัวใจคืออะไร

การตรวจหลอดเลือดหัวใจมีหลายวิธี ซึ่งวิธีการฉีดสีสวนหัวใจจะเป็นขั้นตอนการตรวจลำดับสุดท้าย ผลที่ได้จากการฉีดสีสวนหัวใจจะเป็นคำตอบในการตัดสินวิธีการการรักษา ซึ่งการฉีดสีสวนหัวใจ จะประกอบด้วยการฉีดสี และการสวนหัวใจ

การฉีดสี คือ การใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ และทำการฉีดสารละลายทึบรังสีผ่านท่อเล็กๆ นี้ เพื่อถ่ายภาพเส้นเลือดหัวใจให้เห็นบริเวณที่มีการตีบตันของเส้นเลือด เพื่อดูว่าหลอดเลือดหัวใจนั้นมีสภาวะการเป็นอย่างไร ตีบหรือไม่ ตีบมากน้อยเพียงใด และจะสามารถให้การรักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง

โดยสารทึบรังสีนี้เป็นสารไอโอดีนที่ปลอดภัยต่อร่างกาย สารไอโอดีนจะมีมากในอาหารทะเล ดังนั้น ผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลจะมีโอกาสแพ้สีที่ฉีดได้ จึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน ปริมาณที่ใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ของการทำงานของไตอยู่แล้ว อาจต้องใช้ปริมาณให้น้อยลง

การสวนหัวใจ จะเป็นการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ซึ่งจะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น


การเตรียมตัวก่อนทำการฉีดสี

  1. แพทย์จะสอบถามอาการแพ้ยาและแพ้อาหารทะเล โรคประจำตัว และตรวจร่างกายผู้ป่วย
  2. หากผู้ป่วยมียาที่รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ ยาเบาหวาน โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้แพทย์ดู
  3. ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำดื่ม 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการฉีดสี

ขั้นตอนการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร

  1. แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการเจาะหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ
  2. แพทย์จะสอดท่อพลาสติกอ่อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตรเข้าไปในหลอดเลือดแดง เพื่อเป็นทางผ่านเข้าออกของสายสวนหัวใจเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจ
  3. จากนั้นจะทำการฉีดสี หรือสารละลายทึบรังสีเข้าไปในท่อเล็กๆ นี้ ทำให้สามารถเห็นภายในหลอดเลือดว่ามีการตีบที่บริเวณใด
  4. การพบความผิดปกติของหลอดเลือดที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวนหัวใจ แพทย์จะทำการใส่สายสวนหัวใจ เพื่อทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที หลังจากดำเนินการเสร็จแล้ว ท่อที่ขาหนีบหรือข้อมือจะถูกดึงออกและกดรูเข็มที่เจาะไว้ แล้วกดตรงบริเวณที่ใส่สายเข้าไป เพื่อให้เลือดหยุด โดยใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยให้เลือดหยุดได้เร็วขึ้น แล้วแต่กรณีและความเห็นของแพทย์ผู้ทำหัตถการ
  5. กรณีทำการฉีดสีผ่านขาหนีบ จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-60 นาที หลังจากทำเสร็จจะดึงสายสวนออก และกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยต้องนอนราบ และงอขาหนีบไม่ได้ 6-10 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกนั่ง หรือเดินได้ในทันที
  6. กรณีทำการฉีดสีผ่านข้อมือ วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก อ้วนมาก หรือมีภาวะหลอดเลือดขาส่วนปลายตีบ โดยใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชม. หลังจากทำเสร็จสามารถลุก นั่ง หรือยืนได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ แต่ไม่นานก็สามารถถอดออกได้

การปฏิบัติตัวหลังจากฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ

  1. หลังจากทำหัตถการเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วย เพื่อสังเกตอาการหลังการรักษา
  2. ผู้ป่วยไม่ควรลุกจากเตียงและไม่งอขาด้านที่แทงเส้นเลือด เป็นเวลาอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง (หากทำหัตถการที่บริเวณขาหนีบ)
  3. หากพบว่าบริเวณที่แทงเส้นเลือดบวมหรือขาข้างที่แทงเส้นเลือด ซีดหรือเย็นกว่าปกติควรแจ้งพยาบาลทราบ
  4. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารได้ตามความเหมาะสม
  5. ถ้าปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  6. สามารถทานยาเดิมได้ตามปกติ รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ยาบางอย่างต้องหยุดต่ออีก1-2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าค่าการทางานของไตยังปกติดี เช่น ยาเบาหวานเมตฟอร์มิน
  7. แผลที่ทาการฉีดสีสวนหัวใจ ควรงดโดนน้ำ 24 ชั่วโมง
  8. ในกรณีที่มีจ้าเลือดเขียวๆม่วงๆ บริเวณแผล โดยเฉพาะที่ขาหนีบ สามารถพบได้ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอะไร จะค่อยๆ หายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนหลังการฉีดสี

ภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายที่เกิดขึ้นได้จากการฉีดสีสวนหัวใจนั้น พบได้ไม่บ่อย โดยภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 เช่น ภาวะเลือดออกหรือมีก้อนเลือดบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็ม ภาวะแพ้สีที่ฉีดแบบไม่รุนแรง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงพบได้น้อยกว่า ร้อยละ 1 เช่น หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง อัมพาต เสียชีวิต แพ้สีที่ฉีดแบบรุนแรง ไตวาย เป็นต้น

การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นการวินิจฉัยและยืนยันภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างแม่นยำตรงจุด สะดวก รวดเร็ว เพียงแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่โดยไม่ต้องใช้ยาสลบ ใช้เวลาเพียง 20- 30 นาที และยังสามารถรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบต่อได้ทันที ดังนั้น เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย