บ้านไหนอยากให้ลูกมีระเบียบฟังไว้! พ่อแม่ต้องฝึก ‘วินัยเชิงบวก’ ให้ลูก

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย :

บ้านไหนอยากให้ลูกมีระเบียบฟังไว้! พ่อแม่ต้องฝึก ‘วินัยเชิงบวก’ ให้ลูก

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงอยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีวินัย มีระเบียบ ทำตามข้อตกลงที่ตั้งเอาไว้ จึงงัดไม้ตายออกมาใช้ทั้งไม่อ่อนและไม้แข็ง บ้างก็ได้ผล บ้างก็ไม่ได้ผล มิหนำซ้ำยังทำให้ลูกๆ พลอยอึดอัดไปด้วย ซึ่งความจริงแล้วการฝึกวินัย ผู้ใหญ่ควรปฏิบัติกับเด็กโดยเคารพในคุณค่าของเด็กและปลูกฝังระเบียบวินัยที่มุ่งเน้นสอนให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเองและมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่าการฝึกวินัยเชิงบวกนั่นเอง ดังนั้นไปดูกันค่ะว่าการสร้างและปลูกฝังวินัยเชิงบวกให้กับลูกๆ ควรทำอย่างไรบ้าง


องค์ประกอบของการสร้างวินัยเชิงบวก

ข้อแรก คือ เข้าใจความแตกต่างระหว่างการลงโทษและการฝึกวินัย โดยการฝึกวินัย มุ่งเน้นการพัฒนาพฤติกรรม การแก้ปัญหา ให้ความรู้กับเด็กและสนับสนุนการเจริญเติบโตโดยอยู่บนหลักของพัฒนาการเด็ก ในขณะที่การลงโทษ มุ่งจะควบคุมพฤติกรรมโดยวิธีด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือการลงโทษโดยการทำให้เจ็บปวดรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ข้อที่สอง คือ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองควรเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของเด็ก ทำให้เกิดความไว้วางใจและการยอมรับ โดยการรักษาบรรยากาศของครอบครัวให้อยู่ในด้านบวกเสมอ ให้ความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวัน มีความเสมอต้นเสมอปลายในการตอบรับพฤติกรรมเด็ก อาจให้ความยืดหยุ่นในเด็กโตและวัยรุ่นโดยการเจรจาหาทางออกร่วมกัน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรยอมรับว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และควรสร้างความมั่นใจในตัวเด็กให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ข้อที่สาม คือ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกและสนับสนุนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย เข้าถึงสิ่งที่เป็นอันตรายไม่ได้ มีสื่อการสอนหรือของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของลูก

ข้อสุดท้าย คือ หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเมื่อเริ่มเกิดและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก เช่น หากสังเกตว่าลูกมีอาการก้าวร้าว อาละวาด ควรหยุดพฤติกรรมนั้นทันที หลีกเลี่ยงการตามใจเพื่อตัดรำคาญ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ลูกเกิดความไม่พอใจ เช่น การใช้คำสั่ง การห้าม แต่บอกสิ่งที่ลูกสามารถทำเพื่อทดแทนเรื่องดังกล่าวได้

> กลับสารบัญ


กระบวนการสร้างวินัยเชิงบวกทำได้โดย

  1. บรรยายถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม
  2. ให้เหตุผลชัดเจน โดยคำนึงถึงระดับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก
  3. ขอให้เด็กแสดงอาการรับรู้โดยการทบทวนคำสั่งก่อนแล้วค่อยปฏิบัติขั้นต่อไป
  4. ให้รางวัลหรือชื่นชมเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

> กลับสารบัญ


เทคนิคการฝึกระเบียบวินัย

  1. การให้แรงเสริมเชิงบวก เช่น การกอด การหอม การชื่นชม การปรบมือ เป็นต้น ใช้ในกรณีที่เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ให้แรงเสริมเชิงบวกเพื่อให้เด็กคงมีพฤติกรรมที่ดีนั้นต่อไป
  2. การเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นหรือเบี่ยงเบนความสนใจ
  3. การแนะนำหรืออธิบายด้วยคำพูด เพื่อให้เด็กพัฒนาการตัดสินใจที่ดีขึ้น
  4. การแยกเด็กไปอยู่ตามลำพังโดยจัดให้อยู่ในสถานที่จำกัด (time-out) ใช้ในกรณีที่เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้เด็กสามารถกลับมาควบคุมตัวเองได้อีกครั้ง
  5. การกำหนดกฎเกณฑ์ โดยอธิบายซ้ำๆ จนกว่าเด็กจะสามารถเรียนรู้ที่จะกระทำตามได้ด้วยตนเอง
  6. การลงโทษโดยจำกัดบริเวณ มักใช้ในวัยรุ่นหรือเด็กโตในกรณีที่ทำผิดกฎที่วางไว้
  7. การงดสิทธิพิเศษ โดยการงดสิ่งที่เด็กชอบ ใช้ในกรณีที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ว่าสิทธิพิเศษจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบ หากไม่มีความรับผิดชอบ จะถูกงดสิทธิพิเศษ

> กลับสารบัญ


การปลูกฝังระเบียบวินัยที่ดี จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ให้เด็กเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ “การปลูกฝังวินัยเชิงบวก” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกให้เด็ก คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้และแก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่การฝึกนั้นอาจต้องใช้เวลาฉะนั้นไม่ควรคาดหวังให้ลูกเป็นไปตามแนวทางที่ต้องการจนเร็วเกินไปมิเช่นนั้นจะกลายเป็นสร้างวินัยเชิงลบให้ลูกแทน
ข้อมูลจาก : Banks JB, 2002, ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย