ปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย หากปล่อยไว้กระทบคุณภาพชีวิต

ศูนย์ : คลินิกผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย หากปล่อยไว้กระทบคุณภาพชีวิต

ปัญหาของผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสภาพร่างกายและระบบการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมถอยลงไป จึงมีแนวโน้มการเจ็บป่วยได้ง่ายและเรื้อรัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถทำความเข้าใจ ป้องกัน และดูแลได้ หากพบว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการเหล่านี้คือสัญญาณปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการตรวจเช็คอย่างเร่งด่วนด้วยการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ



ปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

1. ปัญหาการนอนไม่หลับ

ปัญหาของผู้สูงอายุนอนไม่หลับ มีสาเหตุจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัย รวมถึงอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการของโรคประจำตัวบางอย่าง การรับประทานยา ความเครียด ความกังวล คิดมาก ภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน

การป้องกันและดูแลรักษาปัญหาของผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ เช่น การจัดสภาพแวดล้อมของห้องนอน หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ในช่วงเวลาเย็น งดการนอนกลางวัน เป็นต้น ทั้งนี้หากปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมภายในบ้านแล้วยังมีการนอนไม่หลับอยู่ อาจต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อค้นหาสาเหตุ ต้นตอทำให้เกิดการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ


2. ปัญหาหลงลืม สมองเสื่อม

อาการหลงลืม เป็นปัญหาของผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ อาการหลงลืมในภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากเนื้อสมองมีการเสื่อมสลายหรือตาย รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ แข็งตัว หนา หรือมีการตีบผิดปกติ

หากพบว่าผู้สูงอายุเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ พฤติกรรมและความทรงจำอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด สับสนเรื่องเวลา สถานที่ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึมเศร้า นั่นอาจเป็นสัญญาณถึงอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยา การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน และการรักษาด้วยเครื่อง TMS เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น


3. ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ

ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ เป็นอีกหนึ่งปัญหาของผู้สูงอายุ เกิดจากสภาวะของร่างกายได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณ ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย หรืออาจเกิดจากที่ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนพอเหมาะ แต่ร่างกายไม่สามารถใช้สารอาหารนั้นได้ จึงทำให้เกิดภาวะผิดปกติขึ้น สามารถเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การรับรส การบดเคี้ยวอาหาร ปัญหาการกลืน เป็นต้น

การป้องกันและดูแลรักษา อาทิ ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แก้ไขได้ หรือเพื่อทบทวนยาที่อาจทำให้เบื่ออาหารได้ จัดเตรียมอาหารที่คำเล็ก ย่อยง่าย มีความหลากหลาย อาหารที่ชอบ นัดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เช่น ครอบครัว เพื่อน เป็นต้น


4. ปัญหากลืนลำบาก สำลักบ่อย

ปัญหากลืนลำบาก สำลักบ่อยหนึ่งในปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย ก็คือ ความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน

หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการรับประทานอาหารไม่ค่อยลง น้ำหนักลด หรือรับประทานเหลือ เพราะรับประทานอาหารแข็งๆ ไม่ได้ ควรมาพบแพทย์หาสาเหตุ สำหรับอาการสำลัก ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ พอรับประทานน้ำหรืออาหารเหลวๆ แล้วเริ่มไอ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรจะมาพบแพทย์เช่นกัน


5. ปัญหาการรับประทานยา

ปัญหาการรับประทานยาของผู้สูงอายุรักษาหลายโรค รับประทานครั้งละจำนวนมากๆ รวมทั้งผู้สูงอายุอาจจะสายตาไม่ดี ความจำเริ่มไม่ดี เริ่มมีการแยกเม็ดยายาก หรือยาบางตัว ตัวใหม่มา ตัวเก่าเหลือ หรือมีการเปลี่ยนยี่ห้อยา เปลี่ยนขนาดยา ทำให้หยิบยาผิด รับประทานยาไม่ครบ รับประทานยายาไม่ตรงเวลา รับประทานยายาเกินขนาด จนทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากยาได้ แทนที่จะรักษา กลับทำให้อาการแย่ลง

เพื่อให้ผู้สูงอายุรับประทานยาได้ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และตรงตามเวลานั้น ควรต้องมีผู้ดูแลมาคอยจัดยาให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่สุดคือ ผู้สูงอายุรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อลดปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมทั้งการได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อวางแผนการรักษาดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการรับประทานยาได้อย่างถูกวิธีมากขึ้น


6. ปัญหาของผู้สูงอายุในเรื่องกระดูกพรุน

ปัญหาของผู้สูงอายุในเรื่องกระดูกพรุน ถือว่าเป็นปัญหาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย เกิดจากฮอร์โมนที่ขาดไป อายุที่มากขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษต่างๆ ยาบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดกระดูกพรุนเร็วขึ้นได้เช่นกัน เมื่อกระดูกมีความเปราะบางหากเกิดอุบัติเหตุหกล้มแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ และกระดูกที่พรุนอาจทำให้เกิดกระดูกผิดรูปได้อีกด้วย

การดูแลรักษา อาทิ การเข้ารับการตรวจภาวะกระดูกพรุนเมื่อถึงวัย การเข้ารับการตรวจภาวะการขาดวิตามินบางอย่าง การเข้ารับการรักษาด้วยยาช่วยลดความเสี่ยงของการกระดูกหักได้


7. ปัญหาของผู้สูงอายุปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัญหาของผู้สูงอายุที่มีอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากระบบของทางเดินปัสสาวะเกิดความเสื่อมจากอายุที่เพิ่มขึ้น กระเพาะปัสสาวะมีความจุลดลง ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย ผนังมดลูกหย่อนคล้อยในผู้หญิง รวมไปถึงปัจจัยด้านโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เบาจืด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น

การดูแลรักษาปัญหาของผู้สูงอายุที่มีอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราดนั้น ต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ บางสาเหตุรักษาได้ และสามารถรักษาให้หายขาดด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีแค่อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด ให้มาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ


8. ปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุ

ปัญหาหูตึงในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของประสาทหูตามวัย และสาเหตุอื่นๆ เช่น การมีเนื้องอกไปกดเส้นประสาทหูข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น แม้อาการหูตึงจะไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่การไม่ได้ยินนั้นกลับส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ดูแลหรือคนในครอบครัว และหากปล่อยไว้นาน ผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้ยินอีกเลย ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาซึมเศร้าได้

ดังนั้นหากผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะหูตึง ผู้ดูแลเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อเรื่องการสื่อสาร ควรพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธี


9. ปัญหาพลัดตก หกล้มในผู้สูงอายุ

ปัญหาพลัดตก หกล้มในผู้สูงอายุที่เกิดการบาดเจ็บพบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 เฉลี่ย 3 คนต่อวัน รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมองเห็น อาการวิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน รวมไปถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน เป็นต้น

แนวทางป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุนั้น เช่น ฝึกการเดิน การทรงตัว หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ผู้สูงอายุไม่ควรเกิดอุบัติเหตุหกล้มมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี หากว่ามีการหกล้มบ่อยหรือถี่กว่านั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการหกล้ม


10. ปัญหาการฉีดวัคซีน

ปัญหาการวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลและคนในครอบครัวไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ภูมิคุ้มกันที่เคยมีก็ค่อยๆ ลดต่ำลงตามอายุ ทำให้ผู้สูงอายุสามารถติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย เมื่อติดแล้วมีความรุนแรงสูง ดังนั้น การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุจึงมีประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดโรค ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย

โดย วัคซีน 3 ชนิดผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปควรฉีด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ (Influenza vaccine) วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) และ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Herpes zoster)

นอกเหนือจากปัญหาของผู้สูงอายุเหล่านี้แล้ว สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กัน สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลต้องเอาใจใส่ผู้สูงอายุด้วยความรัก และปฏิบัติต่อท่านอย่างนุ่มนวลอ่อนโยน ทั้งนี้การเข้ารับคำปรึกษา และการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ (Geriatric Doctor) และทีมสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการดูแลผู้สูงอายุ จะช่วยให้การรักษาฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดีตามวัย และพิจารณาส่งต่อการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ตามความเหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย