ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ไม่ใช่เรื่องปกติ

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, คลินิกผู้สูงอายุ

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ไม่ใช่เรื่องปกติ

ครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุ คงจะสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อมีอายุที่มากขึ้นพฤติกรรมการนอนหลับของคุณปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อแม่ของคุณมีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเข้านอนช้าแต่กลับตื่นเร็ว ใช้เวลาก่อนนอนกว่าจะหลับเป็นเวลานาน ตื่นมากลางดึกแล้วนอนไม่หลับจนเช้า นอนกลางวันตื่นตอนกลางคืน หรือบางครั้งผู้สูงอายุนอนไม่หลับเกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งหากมีพฤติกรรมเหล่านี้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง คำถามที่สำคัญ คือ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุหรือไม่?

ด้วยข้อเท็จจริงแล้วไม่ว่าจะอยู่วัยไหน หรืออายุเท่าไหร่โดยปกติเวลาการนอนหลับที่ร่างกายต้องการ คือประมาณวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน นั่นหมายความว่า ผู้สูงอายุคนไหนที่มีพฤติกรรมการนอนไม่หลับ ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะมองข้ามอีกต่อไป แม้วัยผู้สูงอายุ จะมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างเริ่มเสื่อมถอย เช่น มีปัญหาในการมองเห็น การได้ยิน การรับรสอาหารแย่ลงก็ตาม หากผู้สูงอายุนอนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ความสามารถในการจำสิ่งต่างๆ ลดลง คิดอะไรไม่ค่อยออก หรือคิดได้ช้าลง และก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้



สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

  1. ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดจากความชรา โดยปกติเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น สมองก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ส่งผลกับการนอนของผู้สูงอายุ แม้จะบอกว่าร่างกายต้องการการนอนวันละ 8 ชั่วโมง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาจจะทำให้ลักษณะการนอนของผู้สูงอายุ เปลี่ยนไป ได้แก่ ความต้องการการนอนหลับตอนกลางคืนลดลง เข้านอนเร็วตื่นขึ้นมาตอนกลางดึก ใช้เวลานานขึ้นหลังจากการเข้านอนกว่าจะนอนหลับ หลับๆ ตื่นๆ นอนหลับไม่สนิท และตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก หากมีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ให้สังเกตว่าในตอนกลางวัน ผู้สูงอายุมีอาการง่วงนอน อ่อนเพลียหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่า ผู้สูงอายุหลับได้เพียงพอกับความต้องการของร่ายกาย
  2. โรคประจำตัวที่รบกวนการนอน อาการของโรคบางอย่าง อาจะส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องตื่นขึ้นมากลางดึก เช่น ต่อมลูกหมากโต เบาหวาน ที่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกหลายๆ ครั้ง ทำให้นอนหลับสนิทได้ยาก หรือบางคนอาจมีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ท้องผูก แน่นท้อง เกิดอาการอาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน ทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
  3. การรับประทานยาบางชนิด การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ อาจจะเกิดจากยาที่จำเป็นต้องรับประทาน ซึ่งมีผลออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือสมอง เช่น ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาไทรอยด์ ยาแก้ชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาสเตียรอยด์ ยารักษาภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
  4. ปัญหาทางสุขภาพจิต ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมีความเครียด ความกังวล รู้สึกเศร้า และคิดมาก รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
  5. โรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
  6. พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้สูงอายุบางรายมักชอบนอนตอนกลางวัน เนื่องจากไม่มีกิจกรรมให้ทำ หรือไม่ต้องออกไปข้างนอกเหมือนเมื่อก่อน รวมไปถึงการดื่มชา กาแฟ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับได้

การแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

เบื้องต้น ให้คุณสังเกตพฤติกรรมการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุว่ามีสาเหตุจากการมีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้นๆ ทั้งนี้ในเบื้องต้นมีข้อปฏิบัติสามารถที่อาจช่วยบรรเทาอาการผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ดังนี้

  • จัดสภาพแวดล้อมของห้องนอน ให้เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ในช่วงเวลาเย็น และไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
  • หากิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในช่วงเวลากลางวัน และออกกำลังกายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อสร้างการรับรู้ว่าเป็นช่วงเวลากลางวัน
  • งดการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
  • การใช้ยานอนหลับ เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่จะรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก่อน เว้นแต่ในกรณีที่คนไข้มีความต้องการที่จะรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จึงจะใช้ยาเพื่อรักษา

ปัญหาผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ไม่ใช่เรื่องปกติและไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ความคิดความอ่านช้าลง อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ยังพบปัญหานอนไม่หลับอยู่ กรณีนี้ผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อค้นหาสาเหตุ ต้นตอทำให้เกิดการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย