ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดจากโรคกระดูกพรุน

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ทวีชัย จันทร์เพ็ญ

ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดจากโรคกระดูกพรุน

กระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดจากโรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไปมากจากการที่ปวดหลังรุนแรงและเป็นมากขึ้นเวลาขยับ หรือ นั่ง ยืน เดิน และมีโอกาสเกิดกระดูกหักตามมาได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะการหักที่บริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องนอนอยู่เฉยๆ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดตัวจากภาวะกระดูกพรุนนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วน ที่ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสเกิดความทุพพลภาพ และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมาได้


ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดเป็นอย่างไร

กระดูกสันหลังหักยุบ หรือทรุดถือว่าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะที่ค่อนข้างอันตรายกับกระดูกสันหลังเนื่องจากเป็นภาวะที่จะมีแต่อาการหนักขึ้นและหนักขึ้นเรื่อย ๆ และจะพบบ่อยในผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย ภาวะนี้เกิดจากความแข็งแรงของกระดูกที่ลดลงจนอาจเกิดรอยร้าวขนาดเล็กสะสมมากขึ้นในโครงสร้างของกระดูก การยุบหรือทรุดของกระดูกสันหลัง อาจเกิดจากการนั่งรถตกหลุม การยกของ การงอตัว การหมุนตัว การก้มเก็บของ การนั่งกระแทกลงบนเก้าอี้ ความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการหกล้มก้นกระแทกพื้น การทรุดตัวมักพบบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกต่อกับส่วนเอว (lower thoracic) และกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar)


อาการกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด

ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะในกรณีที่การหักยุบนั้นไม่มากจนเกิดหลังค่อมกว่าคนทั่วไป แต่ในบางรายจะมีอาการปวดรุนแรง และไม่สามารถลุกขึ้นนั่งหรือยืนได้ ซึ่งอาการปวดจะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการหักหรือยุบของกระดูกสันหลัง โดยอาการของกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดมีดังนี้

  • มีอาการปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่เกิดการหักหรือยุบของกระดูกสันหลัง
  • มีอาการปวดรุนแรงและเป็นมากขึ้นเวลาขยับ หรือ นั่ง ยืน เดิน
  • ในบางราย หากการหักยุบหรือทรุดของกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง จะทำให้มีอาการขาอ่อนแรง ขาชา หรือมีความผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระร่วมด้วย
  • เมื่อกระดูกสันหลังยุบลงจะทำให้หลังโก่งงอ หรือกระดูกหลังคด ปริมาตรของช่องท้องและช่องทรวงอกลดลงมีผลทำให้ท้องอืดแน่นและหายใจลำบากนำมาซึ่งการเกิดความพิการและการลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ิ

การวินิจฉัยภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด

โดยทั่วไปแพทย์จะซักประวัติจากอาการปวดที่เกิดขึ้น พร้อมกับการตรวจร่างกายบริเวณกระดูกสันหลัง โดยแพทย์อาจจะพิจารณาทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์กระดูกสันหลัง การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งจะเห็นว่ากระดูกสันหลังบางและมีการหักยุบ หรือ การตรวจการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยการตรวจ MRI มักส่งตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บต่อระบบประสาทหรือไขสันหลัง


การรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด

การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีแค่อาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว คือไม่มีภาวะของกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ไม่ได้หักอย่างรุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองอาการด้วยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับการใส่เครื่องพยุงหลังเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังยุบหรือทรุดมากขึ้น กระดูกสันหลังที่แตกจะสามารถเชื่อมติดต่อกันจนเป็นปกติเหมือนเดิมได้ภายในเวลา 2-3 เดือน และอาจจะต้องให้ยารักษาภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการหักยุบเพิ่มเติมในอนาคต

ในรายที่ใช้ยาบรรเทาอาการปวดแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องพิจารณาให้การรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Balloon Kyphoplasty)


การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลังรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด

การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Balloon Kyphoplasty) เพื่อรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และกระดูกสันหลังผิดรูป อันเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุนเป็นหลัก รวมทั้งผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง และไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จะช่วยลดเวลาในการพักฟื้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขณะที่รักษาโรคกระดูกพรุนอยู่ โดยการฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลังแบ่งเป็น 2 เทคนิค ได้แก่

  • Vertebroplasty เป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังโดยการฉีดซีเมนต์เข้าไปดันกระดูกสันหลัง ในกรณีที่กระดูกสันหลังที่ยุบตัวลงมาแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยพบว่าอาจมีกระดูกสันหลังส่วนที่หักไม่มั่นคง โดยสามารถทำได้โดยหลังจากที่ผู้ป่วยหลับอยู่ในท่านอนคว่ำแล้ว แพทย์จะใช้มีดเล็กๆ สะกิดเปิดแผลขนาด 2-3 มิลลิเมตรแล้วใช้เข็มที่มีลักษณะกลวงเหมือนหลอดสอดเข้าไปในปล้องกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) ช่วยแล้วจึงค่อยๆ ฉีดซีเมนต์ให้กระจายไปในปล้องกระดูก โดยมากใช้เวลาทำไม่เกิน 45 นาทีต่อหนึ่งระดับ
  • Balloon Kyphoplasty การใช้บอลลูนเพื่อดันกระดูกสันหลังยุบ มีหลักการคล้ายกับ Vertebroplasty แตกต่างเพียงเทคนิคการทำหัตถการ คือ จะใช้บอลลูนเพื่อถ่างขยายในบริเวณกระดูกสันหลังชิ้นที่พรุน เพราะบอลลูนจะคงไว้ซึ่งรูปร่างของกระดูกสันหลังที่หักหรือยุบตัว ลดการเกิดภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ

การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลังรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุด สามารถช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้นของผู้ป่วย โดยเพียงแค่คืนเดียวผู้ป่วยก็สามารถลุก นั่ง ยืน เดินได้ และยังเป็นวิธีการรักษาที่ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกพรุนด้วย

ทั้งนี้โรคกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดในผู้สูงอายุ สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากสภาพของกระดูกที่เสื่อมตามวัย และมีภาวะกระดูกพรุนคุกคาม หากพบว่าผู้สูงอายุปวดหลังบ่อยๆ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจกำลังอยู่ในภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดจากโรคกระดูกพรุนก็ได้





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย