มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบที่แฝงมากับอาการปวดท้อง

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง รพ.นครธน

บทความโดย :

มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบที่แฝงมากับอาการปวดท้อง

มะเร็งกระเพาะอาหาร มักมาด้วยอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรืออาหารไม่ย่อย โดยโอกาสการเกิดโรคนั้นเมื่ออายุที่เพิ่มมากขึ้น มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหารร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อตรวจ ถ้าพบในระยะที่ผ่าตัดได้มีโอกาสหายขาดสูง แต่ส่วนใหญ่มักพบในระยะลุกลามแล้ว ฉะนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำและไม่ละเลยความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย พร้อมทั้งการรู้เท่าทันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารคือสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ


มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองได้


ปัจจัยเสริมในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้

  1. การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H.pylori) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนเกิดแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กได้ และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด
  2. กินอาหารมีรสเค็ม หรือมีเกลือในปริมาณสูง เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ของหมักดอง ที่ต่างกันไปตามลักษณะของการให้ความร้อน เช่น ส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง รมควัน จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เช่น อาหารอบกรอบ ทอด ปิ้ง คั่ว เป็นต้น
  3. อายุที่มากขึ้นจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
  4. เพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
  5. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  6. ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร
  7. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  8. ภาวะอ้วน
  9. ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในระยะแรกของอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อยหรือไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

ในกรณีที่มีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการ ได้แก่ รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ มีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่รับประทานเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือรับประทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ รพ.นครธน

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร

เบื้องต้นจะมีการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ตรวจดูลักษณะก้อนและสิ่งผิดปกติในช่องท้อง ตรวจหาต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต เป็นต้น รวมถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมได้แก่

  1. การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) หรือส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อทำการตรวจประเมินรอยโรคภายในกระเพาะอาหาร หากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
  2. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจดูตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรค ซึ่งการตรวจนี้จะแสดงภาพได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา

แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้าย การกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือไม่ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น แพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง ทำการปรึกษาร่วมกันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งการรักษาจะแบ่งตามระยะของโรค ดังนี้

  1. ระยะเริ่มแรก โดยที่มะเร็งอยู่เฉพาะชั้นเยื่อบุส่วนบนของกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารเมื่อมาตรวจสุขภาพ ซึ่งการรักษานั้นสามารถทำการการตัดผ่านกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก
  2. ระยะลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งเป็นระยะที่พบบ่อยในผู้ป่วยคนไทย โดยมะเร็งจะมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นเยื่อบุส่วนล่าง หรือ กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร และมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีอาการอืดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือ มีเลือดออกในกระเพาะ มาซักระยะหนึ่ง การรักษามะเร็งระยะนี้จะต้องทำการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ร่วมกับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองโดยรอบออก จากนั้นเสริมการรักษาหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร้งที่เหลืออยู่ และลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง
  3. ระยะแพร่กระจาย ซึ่งมีการกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ช่องท้อง ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แม้ว่าจะไม่หายขาด แต่สามารถทำให้อาการจากโรคมะเร็งดีขึ้น โดยอาจให้ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) รวมถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะนี้จะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่แสดงอาการใด ๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม พร้อมกับหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย คือแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะยาวได้



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย