ลูกคุณเสี่ยงเป็นภูมิแพ้รึเปล่า หากสงสัย อย่ารอช้า รีบพบแพทย์

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก, ศูนย์ภูมิแพ้

บทความโดย :

ลูกคุณเสี่ยงเป็นภูมิแพ้รึเปล่า หากสงสัย อย่ารอช้า รีบพบแพทย์

ในปัจจุบัน พบว่าเด็กเป็นภูมิแพ้กันมากขึ้น โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 40 และถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากถึงร้อยละ 80 แต่อาจจะเป็นโรคภูมิแพ้คนละชนิดกับพ่อแม่ก็ได้ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 15 ที่ไม่ได้เป็นภูมิแพ้จากพันธุกรรม แต่สาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ ควันบุหรี่ มลพิษในอากาศจากควันพิษของโรงงาน ควันจากยานพาหนะ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจและผื่นผิวหนังเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุภูมิแพ้อาหารบางชนิดนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป


ลูกน้อยเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อะไรบ้าง?

โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อยและมักเกิดขึ้นตามอายุที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ พบในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนมากจะมีอาการเมื่อเจอฝุ่นหรืออากาศเย็น มักมีน้ำมูกใสไหลตลอดเวลา โดยเด็กจะมีอาการเหมือนเป็นหวัด แต่จะเป็นบ่อยมากเกือบทุกเดือน หรือมีอาการนานเกินกว่า 10 วัน หรือเป็นๆ หายๆ ช่วงเช้าและช่วงกลางวัน อาการที่เด่นชัด เช่น อาการคันจมูก ชอบขยี้จมูก จามหลายครั้งติดกันตอนเช้า บางคนมีอาการคันตาชอบขยี้ตาร่วมด้วย หรือคัดจมูกเวลาโดนสิ่งกระตุ้น
  2. โรคหอบหืด มักเกิดในเด็กอายุ 3-7 ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ แสดงอาการเมื่อเด็กไปสัมผัสทางการสูดดม หายใจในอากาศที่มีควันพิษหรือสารก่อภูมิแพ้ โรคหอบหืดเกิดจากทางเดินหายใจที่บวม ตีบแคบลง ซึ่งถูกกระตุ้นโดยปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย จะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก หรืออาการไอติดกันเป็นชุดๆ อาจเกิดอาการในตอนกลางคืน ขณะออกกำลัง หรือขณะเป็นหวัด ติดเชื้อทางเดินหายใจ
  3. โรคแพ้อาหาร ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 1 ปี เด็กช่วงขวบปีแรกมักได้รับโปรตีนแปลกปลอมที่จะก่อให้เกิดการแพ้มาจากอาหารที่รับประทาน ส่วนมากคือโปรตีนจากนมวัว โดยอาจได้รับโดยตรงจากการดื่มนมผสม หรืออาจแพ้ผ่านมาทางน้ำนมของแม่ ต่อมาเมื่อเริ่มกินอาหารเสริมพบว่าอาหารที่ทำให้แพ้บ่อยได้แก่ ไข่ขาว ไข่แดง แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อาหารทะเล ส่วนอาหารที่แพ้น้อย ได้แก่ งา เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ และผลไม้ ซึ่งอาการแพ้อาหารมีได้หลายระบบ อาทิ อาการทางผิวหนัง เช่น อาการผื่นลมพิษ ผื่นแดงคันเรื้อรัง อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายมีมูกเลือดปน อาเจียน ถ่ายเหลว ส่วนอาการทางเดินหายใจพบได้น้อย เช่น หายใจครืดคราด มีเสมหะ น้ำมูกเรื้อรังมักพบในทารกที่แพ้นมวัว
  4. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบในเด็กเล็กมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ลักษณะที่พบได้ชัดคือเป็นผื่นตุ่มแดงคัน เป็นแผ่นแดง ลอก และเป็นขุยได้ มีอาการคันมาก และการกระจายตามตัวจะต่างกันในแต่ละช่วงอายุ มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่สัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี ในวัยเด็กโต ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา

> กลับสารบัญ


หากสงสัย อย่ารอช้า รีบพบแพทย์


ทดสอบภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หากได้รับการรักษาเนิ่นๆ ตั้งแต่ยังเป็นไม่มาก มีโอกาสหายขาดมาก แต่หากรอและมารับการรักษาช้าเกินไป โอกาสที่จะหายก็น้อยลง และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ โดยการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วย โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test) เพราะทำได้ง่ายรวดเร็วให้ผลทันที เมื่อได้ทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแล้วพบปฏิกิริยาในการแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดแล้ว จะสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยตรง อีกทั้งยังส่งผลให้การรักษาโรคดีขึ้น และทำให้ควบคุมโรคภูมิแพ้ได้ดีขึ้น

> กลับสารบัญ





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย