สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ กรดไหลย้อนไม่รักษา เลี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง รพ.นครธน

บทความโดย :

สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ กรดไหลย้อนไม่รักษา เลี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นลำดับที่ 7 ของโลก สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่มักจะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า ในช่วงอายุ 55-65 ปี โดยตำแหน่งการเกิดมะเร็งนั้น ส่วนใหญ่มักพบที่หลอดอาหารส่วนกลางหรือส่วนบน โดยสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ความอ้วน โรคกรดไหลย้อน เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้หลอดอาหารแคบลง จนทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบาก กลืนแล้วเจ็บ และมีน้ำหนักตัวลดลง หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง


มะเร็งหลอดอาหารเกิดจากอะไร

มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) เกิดจากเซลล์เติบโตผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง โดยจะเกิดจากเนื้อเยื่อชั้นในโตออกสู่ผนังด้านนอก ถ้ามะเร็งกระจายผ่านผนังหลอดอาหารจะสามารถเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอก และอวัยวะใกล้เคียง มะเร็งหลอดอาหารยังสามารถกระจายสู่ปอด ตับ กระเพาะอาหาร และส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้


ชนิดของมะเร็งหลอดอาหาร

  1. มะเร็งหลอดอาหารชนิดสแควมัส (squamous cell carcinoma) พบได้บ่อยในประเทศไทย เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหาร และมักพบในตำแหน่งหลอดอาหารส่วนบนและกลาง สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. มะเร็งหลอดอาหารชนิดอะดีโน (adenocarcinoma)เป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50-80% ของมะเร็งหลอดอาหาร และมักพบในตำแหน่งหลอดอาหารส่วนปลายและรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะ สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ความอ้วน โรคกรดไหลย้อน และ ภาวการณ์อักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ อาทิ

  • การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยปริมาณและระยะเวลาในการสูบบุหรี่มีผลกับการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาการอย่างชัดเจน
  • การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหารสูงขึ้น 5.5 เท่า และผู้ที่ยังคงดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.6 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยปริมาณการดื่มจะมีผลมากกว่าช่วงระยะเวลาที่ดื่ม
  • ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการกำเริบบ่อยครั้ง อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่า
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง (Barrett’s Esophagus) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ประมาน 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนชนิดรุนแรง
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และเพศชายมีแนวโน้มเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าเพศหญิง

อาการแสดงของมะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหารในระยะแรกจะไม่มีอาการแต่จะเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคทั่ว ๆ ไปของหลอดอาหารที่พบบ่อย ได้แก่

  • กลืนลำบาก กลืนอาหารไม่สะดวก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ที่คอ หรือบริเวณหน้าอก บางรายอาจสำลักอาหารด้วย
  • หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น เช่น กลืนลำบากมากขึ้นแม้แต่น้ำหรือของเหลว และอาจมีน้ำมูกเหนียวหรือมีน้ำลายมาก เพราะเป็นกระบวนการที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาในปริมาณมาก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลำเลียงอาหาร
  • อาจมีเสมหะปนเลือด
  • อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • แน่นหน้าอกหรือแสบร้อนในช่องอก
  • รู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งหลอดอาหาร

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ อาการแสดง การตรวจร่างกาย ถ้าสงสัยหรือมีอาการเข่าข่ายอาจตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ได้แก่

  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อตรวจหลอดอาหารหากตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่าสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจสอบต่อไปได้
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายในแบบสามมิติ ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียด
  • การกลืนแป้งสารทึบแสง เป็นวิธีการตรวจโดยให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสมด้วยสารทึบแสงคล้ายแป้ง ซึ่งจะไปเคลือบหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก และทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นระยะๆ ทำให้สามารถมองเห็นก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้

ระยะของโรคมะเร็งหลอดอาหารแบ่งเป็น 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหารยังไม่ลุกลาม
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้นแต่ยังอยู่ในชิ้นเนื้อเยื้อของหลอดอาหาร
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามทะลุเนื้อเยื่อต่างๆ ของหลอดอาหารและมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปหรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น

การรักษามะเร็งหลอดอาหาร

แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระยะการแพร่กระจาย ชนิดของเซลล์มะเร็ง รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดหลอดอาหาร (Esophagectomy) จะเป็นวิธีการรักษาในมะเร็งระยะที่ 1 และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้ โดยจะผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แต่ในโรคระยะลุกลามจนผู้ป่วยรับประทานทางปากไม่ได้ อาจมีการผ่าตัดเล็กทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กเพื่อให้อาหารทางสายยางแทน
  2. การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือการฉายรังสี (Radiotherapy) โดยทั่วไปมักเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายรังสี เคมีบำบัด และผ่าตัด ซึ่งจะเป็นไปตามข้อบ่งชี้การแพทย์เป็นราย ๆ ไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรค ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากมีสุขภาพแข็งแรง และการรักษาแบบประคับประคองที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นมากแล้วหรือสุขภาพไม่แข็งแรง
  3. การรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยอาจให้ยาทางปากหรือฉีดเข้าเส้นเลือด ใช้หลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำสูง และยังเป็นมาตรฐานในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลาม ซึ่งมักใช้รักษาร่วมกับรังสีหรือร่วมกับรังสีและการผ่าตัด
  4. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการรักษา โดยมุ่งทำลายมะเร็งด้วยยาที่ตรงกับยีนมะเร็งของผู้ป่วยโดยเฉพาะ ใช้ได้ในผู้ป่วยที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เพื่อลดผลข้างเคียงของยาเคมีแบบทั่วไป
มะเร็งหลอดอาหารเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดี เนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีระยะโรคที่มากแล้ว อีกทั้งผู้ป่วยมักเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจําตัวร่วมด้วย ฉะนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ไม่สูบบุหรี่ งดหรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง พร้อมทั้งคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย จะเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย