ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ คัดกรองโรคร้ายก่อนลุกลาม

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ คัดกรองโรคร้ายก่อนลุกลาม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของระบบทางเดินอาหาร โดยมีอัตราการเกิดโรคใหม่ และอัตราการตาย ในลำดับต้นๆ เนื่องจากปัจจุบันมนุษย์มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการทำงาน ภาวะความเครียด พฤติกรรมการกิน การละเลยสุขภาพตัวเอง จึงกลายเป็นช่องว่างให้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เข้าหาอย่างไม่รู้ตัว การดูแลป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด คือ การคัดกรองโดยการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่


การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็งที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจเรียกว่า “Colonoscope” หรือกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแปลผลวินิจฉัยได้ถูกต้อง ทั้งนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ ส่งตรวจและการตัดเอาเนื้องอกที่เป็นติ่งเล็กๆ ผ่านทางกล้องได้เลย

โดยผู้ที่ควรได้รับการตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเป็นผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีอายุ 45-50 ปีขึ้นไป และสุขภาพดี ไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม ควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุกๆ 3-5 ปี ผู้ที่ถ่ายเป็นเลือดหรือมีมูกเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ


เตรียมตัวส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ที่เข้ารับการตรวจส่องกล้องนั้น จะได้รับคำแนะนำในการรับประทานอาหารก่อนเข้าตรวจ เพื่อปรับการทำงานของลำไส้ใหญ่ โดย 3 วันก่อนตรวจต้องรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มปลา นม เป็นต้น และงดรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวนและเวลาตามที่แพทย์สั่ง ควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ และคืนวันก่อนตรวจ ให้งดอาหาร และน้ำดื่ม 6 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะทำการตรวจเสร็จ


ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

สำหรับขั้นตอนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้างงอเข่าชิด แล้วจะค่อยๆ สอดกล้องผ่านทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่ จากนั้นตรวจผิวภายในลำไส้ทั้งหมดอย่างละเอียด การส่องกล้องจะสิ้นสุดเมื่อถอนกล้องออกมา โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ซึ่งรวมกับเวลาเตรียมตัว การตรวจ กระทั่งออกมาพักฟื้นที่ห้อง รวมแล้วใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง

ขณะตรวจจะมีการเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ขยาย อาจทำให้รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรือแน่นอึดอัดท้อง อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้ด้วยการหายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง หากแน่นอึดอัดท้องมากจนทนไม่ไหว ให้แจ้งโดยแพทย์จะดูดลมออกให้ ซึ่งห้ามดิ้นโดยเด็ดขาด

เมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือติ่งเนื้อ แพทย์จำเป็นจะต้องทำการตรวจเพิ่มโดยการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านกล้องเพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัย โดยชิ้นเนื้อจะเป็นเพียงเยื่อบุผิวขนาดเล็กแค่เพียงพอต่อการวินิจฉัยเท่านั้น ถ้าหากตรวจพบติ่งเนื้อ (Polyps) ซึ่งก็คือ เยื่อบุลำไส้ที่งอกเติบโตผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่ดีไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งติ่งเนื้อจะมีขนาดรูปร่างและชนิดต่างๆ กันไป โดยแพทย์จะตัดติ่งเนื้อออกทั้งหมดเพื่อช่วยการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากนั้นนำติ่งเนื้อไปตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยพยาธิวิทยาอีกครั้ง


หลังการตรวจส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่

หลังการตรวจส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม จากการใส่ลมขณะส่องกล้องซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ถ่ายอุจจาระอาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีหัตถการในการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก เลือดออกมากผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำจะไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ จึงต้องมีญาติคอยดูแลสังเกตอาการ และห้ามขับรถหรือทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร่วมกับการตัดติ่งเนื้อนั้น จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง และ ลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ถ้าหากตรวจพบรอยโรคได้ตั้งแต่ก่อนเกิดมะเร็ง หรือพบมะเร็งระยะแรก จะทำให้สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่


Q: การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ใช้เวลาเท่าไร
A: โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ซึ่งรวมกับเวลาเตรียมตัว การตรวจ กระทั่งออกมาพักฟื้นที่ห้อง รวมแล้วใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง
Q: ก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่สามารถทานอะไรได้บ้าง
A: เพื่อปรับการทำงานของลำไส้ใหญ่ โดย 3 วันก่อนตรวจ ผู้ที่เข้ารับการตรวจส่องกล้องต้องรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มปลา นม เป็นต้น และงดรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น
Q: หลังการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่สามารถทานอะไรได้บ้าง
A: สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
Q: การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดไหม
A: การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของภายในลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
Q: การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เจ็บไหม
A: หลังการตรวจส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม จากการใส่ลมขณะส่องกล้องซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ถ่ายอุจจาระอาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีหัตถการในการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก เลือดออกมากผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย