เช็ค 7 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าลูกเป็นโรคหัวใจ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์

เช็ค 7 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าลูกเป็นโรคหัวใจ

ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เด็กก็มีความเสี่ยงที่จะพบว่าเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน ซึ่งพ่อแม่ควรทำความเข้าใจถึงวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจในเด็ก และความรุนแรงของโรคหัวใจในเด็ก หากพบว่าลูกป่วยก็จะได้รีบรักษาอย่างทันท่วงที และก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ดังนั้นการทราบว่าลูกเป็นโรคหัวใจหรือไม่ มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอย่างง่ายเพื่อใช้วิเคราะห์ ดังนี้


1. ลูกมีอาการตัวเขียวหรือไม่?

อาการเขียว หมายถึง เด็กที่เกิดมามีผิวสีเขียวคล้ำทั่วร่างกาย โดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก จะเห็นได้ชัดขณะที่เด็กดูดนม ขณะกำลังร้องไห้จะดูเขียวมากขึ้น บางคนเวลาเล่นมากๆ หรือตื่นนอนตอนเช้า ถ้าเป็นมากๆ อาจพบว่ามีหายใจแรง ตัวอ่อน และไม่รู้สึกตัวได้ เด็กที่มีอาการเขียวมาเป็นระยะเวลานานๆ อาจพบปลายนิ้วปุ้มเหมือนกระบองและเล็บงุ้มลง

เขียว (Cyanotic) อาการแสดงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจ และ/หรือหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่ความผิดปกตินั้นๆ ทำให้มีเลือดดำปนอยู่ในเลือดแดง จนลำเลียงออกซิเจนไม่ได้ ทำให้อวัยวะต่างๆ ไม่ได้รับออกซิเจนในเลือดเพียงพอ เลือดจึงมีสีแดงคล้ำขึ้น ทำให้เกิดภาวะเขียว


2. ลูกมีอาการหอบ เหนื่อยง่าย หายใจเร็วกว่าปกติหรือไม่?

ในทารก หรือเด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจอาจมีอาการเหนื่อยง่ายขณะดูดนมทำให้ต้องหยุดดูดเป็นช่วงๆ หากทารกต้องใช้เวลาดูดนมมื้อหนึ่งนานเกิน 30 นาที ควรสงสัยว่าทารกนั้นอาจมีความผิดปกติได้ ในเด็กวัยเรียนขึ้นไปอาจพบว่าเหนื่อยง่ายเวลาเล่นหรือออกกำลังกาย ในรายที่เป็นมากๆ แม้กระทั่งขณะพักก็พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบ หรือต้องนอนศีรษะสูง

อาการเหล่านี้เกิดจากเด็กที่มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิด อาจมีการคั่งของเลือดที่ปอด ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับเลือดที่ปอดได้ไม่ดีเท่าที่ควรและทำให้ปอดมีความยืดหยุ่นน้อยลงด้วย ทำให้เหนื่อยง่าย


3. ลูกมีเหงื่อออกมากผิดปกติหรือไม่?

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่า ลูกมีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะแถวหน้าผาก ด้านหลังของศีรษะและหลัง โดยไม่ได้สัมพันธ์กับเสื้อผ้าที่หนา หรืออากาศร้อน เนื่องจากหัวใจต้องทำงานมาก มีการใช้พลังงานสูงกว่าปกติ และมีการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติกมากกว่าปกติด้วย ส่งผลให้ลูกมีเหงื่อออกมาก อาการนี้จะเห็นได้ชัดเจนในเด็กที่มีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย


4. หัวใจเต้นเร็วและแรงกว่าปกติหรือไม่?

ในทารกสามารถสังเกตได้ว่าหัวใจของลูกเต้นเร็วและแรงกว่าปกติโดยมีการกระเพื่อมของหน้าอกซ้ายด้านล่างแถว ๆ ใกล้ราวนม และบางครั้งอาจเห็นการกระเพื่อมที่หน้าอกคล้ายกลองที่ถูกตี


5. มีอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วหรือไม่?

ในเด็กปกติเราพบว่าจะมีหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้เมื่อออกกำลังกาย หรือมีไข้สูง แต่หากพบว่าเด็กมีหัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่นในขณะพักควรสงสัยว่าอาจจะมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติเกิดขึ้นในหัวใจ อาการเหล่านี้อาจเป็นๆ หายๆ ดังนั้นเมื่อเด็กมีอาการใจสั่นควรจับชีพจรหรือเอามือคลำหน้าอกเด็กเพื่อนับอัตราการเต้นของหัวใจต่อหนึ่งนาที ถ้าในทารกหัวใจเต้นเร็วกว่า 160 ครั้ง, เด็กเล็กหัวใจเต้นเร็วกว่า 140 ครั้ง และ เด็กโตหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง ควรพาไปพบแพทย์


6. ลูกตัวเล็ก การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ

เด็กโรคหัวใจบางคนจะตัวเล็ก เจริญเติบโตช้า น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโดยเฉพาะที่มีหัวใจวายร่วมด้วย จะดูดนมไม่ค่อยเก่ง รับประทานอาหารได้น้อยและอาจมีการดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเท่าปกติ เพราะมีการคั่งของเลือดทำให้ได้อาหารไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย


7. หน้ามืด เป็นลม หมดสติ

มักพบในกรณีการตีบแคบอย่างรุนแรงของหลอดเลือดแดงในส่วนลิ้นหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ

ในกรณีเด็กแรกคลอดหากมีอาการผิดปกติที่นำไปสู่โรคหัวใจ กุมารแพทย์จะเช็คให้ทันทีหลังออกจากห้องคลอด แต่หากลูกคลอดออกมาแล้วไม่พบอาการเตือนโรคหัวใจในช่วงแรก แต่เมื่อไรก็ตามที่สงสัย หรือไม่แน่ใจว่าบุตรหลานของท่านอาจมีอาการของโรคหัวใจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรมาโรงพยาบาล เพื่อให้กุมารแพทย์โรคหัวใจตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อจะได้นำไปสู่การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรง ทั้งนี้โรคหัวใจในเด็ก หากพบอาการก่อน ตรวจวินิจฉัยได้เร็ว รักษาตรงกับกลุ่มอาการของโรคหัวใจ ก็มีโอกาสหายขาดได้


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย