เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องเป็น “ผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว”

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, คลินิกผู้สูงอายุ

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องเป็น “ผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว”

เพราะผู้สูงอายุ คือ บุคคลอันเป็นที่รักของทุกครอบครัว ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ผู้สูงอายุของแต่ละบ้านก็ยังคงเป็นสมาชิกคนสำคัญที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิด หรือบุตรหลานซึ่งเป็นด่านแรกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ ในสังคมไทยผู้ดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว ดังนั้นเมื่อต้องกลายมาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ควรต้องเตรียมตัวให้พร้อม และฝึกการคลายเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี


เมื่อเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องการตรียมตัวอย่างไร

หน้าที่ของการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ดูแลอาจต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมี 3 เรื่องที่ต้องเตรียมตัว ดังนี้


  1. การเตรียมตัวด้านความรู้ ความเข้าใจผู้สูงอายุ
  2. เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกาย อารมณ์ และสภาพจิตใจของท่านก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามไปด้วย ทุกการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม และอาจส่งผลกระทบกับผู้ดูแลและครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายนั้น จะเป็นประตูบานแรกที่เชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ดูแลและผู้สูงอายุให้เข้าใจกันได้อย่างดีที่สุด เช่น ผู้สูงอายุจะมีการได้ยินไม่ค่อยชัด ผู้ดูแลก็ต้องพูดเสียงดังขึ้น พูดย้ำหลายรอบ บางท่านมีอาการหลงๆ ลืมๆ ก็จะคอยถามคำถามเดิมอยู่ซ้ำๆ หรือเล่าแต่เรื่องเดิมๆ วนเวียนวันละหลายรอบ เป็นต้น

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายแล้ว ด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษจนส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ และจะพาลส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนแรง จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมและตั้งรับทั้งตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น ผู้สูงอายุจะมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจเกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม ผู้สูงอายุจะชอบคิดเรื่องเดิมๆ ซ้ำซาก ลังเล หวาดระแวง หมกมุ่น เรื่องของตัวเอง ทั้งเรื่องในอดีต ปัจจุบัน อนาคตและส่วนใหญ่จะกังวลว่าลูกหลานจะทอดทิ้ง บางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เอาแต่ใจตนเอง ทำตัวเหมือนเด็กหรือวัยรุ่น หรือที่เรียกว่า “วัยกลับ” ซึ่งนิสัยเหล่านี้อาจทำให้หลายคนหนักใจและเกิดความเบื่อหน่ายได้ เป็นต้น

  3. การเตรียมตัวทางด้านสุขภาพร่างกาย
  4. การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องใช้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ภายในบ้าน เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อแอโรบิก โยคะ หรือหาเวลาออกกำลังกายนอกบ้านให้ได้เหงื่อ เช่น วิ่ง เดินเร็ว

  5. การเตรียมตัวทางด้านจิตใจ อารมณ์
  6. ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเลย ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุอาจทำให้ผู้ดูแลมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รวมถึงเบื่อหน่ายเนื่องจากมีเวลาส่วนตัวน้อยหรือออกไปติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้น้อยลงจนเกิดเป็นความเครียด รู้สึกไม่มีความสุขได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ป่วยช่วยเหลือตนเองแทบไม่ได้ ผู้ป่วยสูงอายุที่นอนติดเตียง ดังนั้นการปรับทัศนคติและยอมรับสถานภาพด้วยความเต็มใจ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการตอบแทนผู้มีพระคุณเป็นช่วงที่ได้ใช้เวลาร่วมกันสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน ก็จะทำให้ความเครียดและความกดดันนั้นผ่อนคลายลงไปได้




ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุลดความเครียด ความเหนื่อยล้า

เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ผู้ดูแลผู้สูงอายุและสมาชิกครอบครัวอาจจะต้องเผชิญกับความเครียดจากการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในด้านร่างกายจิตใจของผู้ดูแล จนทำให้ไม่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ สร้างความเครียด ความกดดันต่างๆ ซึ่งความเครียดเหล่านี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนรอบข้างและคนในครอบครัวได้ ดังนั้นเพื่อลดภาวะเหล่านี้ มีคำแนะนำเบื้องต้นลดความเครียด ความเหนื่อยล้า เมื่อต้องดูแลผู้สูงอายุ ได้ดังนี้

  1. วางแผนการดูแลให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา โดยปรึกษากันในครอบครัวเพื่อช่วยกันแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะการดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานที่ค่อนข้างหนักและต้องใช้ความอดทนอดกลั้นสูง
  2. ถ้าเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
  3. หาเวลาพักผ่อนส่วนตัว วันหยุดพักผ่อนสัปดาห์ละ 1 วัน หรือวันหยุดยาวๆ เดินทางไปพักผ่อนในสถานที่ทางธรรมชาติ เติมพลังกายและพลังใจให้เต็มที่ ไปพบปะเพื่อนฝูงเพื่อพูดคุย หรือเดินเล่นให้สบายใจบ้าง
  4. ไม่ควรเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดจากการดูแลผู้ป่วยไว้แต่เพียงผู้เดียว
  5. ใช้เวลาดูแลผู้สูงอายุสลับกับการทำกิจกรรมที่ชอบหรือทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ฯลฯ หรือใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะจำเจที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด
  6. หมั่นรายงานความเป็นไปของอาการ รวมทั้งปรึกษาและระบายปัญหาให้ญาติพี่น้องทุกคนรับรู้เสมอ เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและมีความเข้าใจอันดีต่อกัน
  7. หาเวลาไปนวดผ่อนคลายในสปาหรือไปร้านเสริมสวย ดูแลตัวเอง ให้รางวัลกับตนเองบ้าง
  8. นอนหลับ เป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดที่ง่ายและดีที่สุด เพราะทุกส่วนของร่างกายจะทำงานลดลง จึงเป็นวิธีลดความเครียดไปด้วย
  9. เข้ากลุ่มช่วยเหลือที่โรงพยาบาลจัด เป็นโอกาสดีที่จะได้พบปะทำความรู้จักกับผู้ดูแลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เทคนิคการดูแล อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเครียดได้ด้วย
  10. อ่านหนังสือแนวให้กำลังใจหรือสอนให้มองโลกในแง่ดี หนังสือศาสนา สวดมนต์ทำสมาธิ นำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้มองเห็นความเป็นจริงของชีวิต
การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นงานที่ต้องใช้พลังกายและใจอย่างมาก ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือจากสมาชิกครอบครัวทุกคน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแลผู้สูงอายุประสบความสำเร็จ คือทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย ควรพยายามเข้าหาผู้สูงอายุให้มากขึ้น หาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับท่าน ต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุ มีความเอาใจใส่ดูแลด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย