โรคคาวาซากิ ภัยร้ายในเด็กเล็ก เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอักเสบ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์

โรคคาวาซากิ ภัยร้ายในเด็กเล็ก เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอักเสบ

เด็กเล็กที่เป็นโรคคาวาซากิ จะมีไข้สูงหลายวัน ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลด ผื่นขึ้นตามตัว มือเท้าบวม แม้โรคจะหายเองได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม เด็กจำนวนไม่น้อยจะมีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถ้ามีการอักเสบของหัวใจที่รุนแรงอาจเกิดภาวะช็อคได้ การอักเสบของหลอดเลือดแดงที่สำคัญที่สุด คือ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการโป่งพอง ซึ่งอาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมาได้ และอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ยิ่งเด็กเล็กมากๆ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าเด็กโต


รู้จัก..โรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นกลุ่มอาการที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย มีไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายมักเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก


เช็คอาการโรคคาวาซากิ

อาการสำคัญของโรคนี้ ประกอบด้วย ไข้ ตาแดง ปากแดง การเปลี่ยนแปลงที่มือและเท้า ผื่น และต่อมน้ำเหลืองโต อาการเหล่านี้เกิดในเวลาต่างๆ กันทำให้ต้องติดตามอาการเป็นระยะๆ

  • ไข้ มีไข้สูงโดยมักต่อเนื่องเกิน 5 วัน ถ้าไม่ได้การรักษาที่เหมาะสม ไข้จะอยู่ได้นานหลายสัปดาห์
  • ตาแดง จะเป็นทั้ง 2 ข้าง มักเห็นภายใน 2-4 วันแรกนับจากเริ่มมีไข้ ตาที่แดงจะเป็นบริเวณตาขาวมาก ไม่ค่อยมีขี้ตา และไม่ค่อยเจ็บ
  • ริมฝีปากแดง และแห้ง เห็นได้ชัดตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค บางครั้งมีริมฝีปากแตก อาจมีเลือดออกด้วย เยื่อบุในปากจะแดงด้วย แต่ไม่มีแผล ลิ้นจะแดงและมีปุ่มรับรสใหญ่กว่าปกติลักษณะคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี
  • การเปลี่ยนแปลงที่มือและเท้า เป็นลักษณะที่ไม่ค่อยเห็นในโรคอื่นๆ มือ เท้า จะบวม แดง บางรายเจ็บชัดเจน ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรค ประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีไข้จะเห็นผิวหนังลอก โดยเริ่มลอกบริเวณรอบๆ เล็บมือ เล็บเท้า อาจลามมาจนลอกทั้งฝ่ามือ ฝ่าเท้า
  • ผื่น ขึ้นได้หลายแบบ มักขึ้นภายใน 5 วันแรกนับจากเริ่มมีไข้ โดยมักเป็นทั่วทั้งบริเวณลำตัว และแขน ขา ซึ่งผื่นจะขึ้นหนาแน่นที่สุด บริเวณสะโพก อวัยวะเพศ ขาหนีบ บางครั้งจะมีการลอกที่ปลายนิ้วมือและปลายนิ้วเท้าด้วย
  • ต่อมน้ำเหลือง ที่โตมักพบที่คอ มักเป็นข้างเดียว ลักษณะค่อนข้างแข็ง และกดไม่ค่อยเจ็บ
  • อาการอื่นๆ เช่น กระสับกระส่ายมากกว่าเด็กที่ป่วยเป็นไข้อื่นๆ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง บางรายมีตับโต และตัวเหลือง

ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจจากโรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ ทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในระยะเฉียบพลัน หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจอักเสบ เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้


การวินิจฉัยโรคคาวาซากิ

การตรวจวินิจฉัยโรคคาวาซากินั้น อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายพบความผิดปกติดังกล่าวต้องอาศัยอาการ ซึ่งอาการแสดงมักเกิดไม่พร้อมกัน โดยเริ่มวินิจฉัยจากอาการไข้นานเกิน 5 วัน ร่วมกับกลุ่มอาการของโรค 3-4 ข้อ ประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยสนับสนุน เช่น การตรวจเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว จำนวนเกล็ดเลือด การตรวจค่าการอักเสบโดยการตรวจค่าความเร็วของการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง ตรวจปัสสาวะ และตรวจค่าเอ็นไซม์การทำงานของตับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย และช่วยในการประเมินหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว มีน้ำในเยื้อหุ้มหัวใจ หัวใจบีบตัวไม่ดี เป็นต้น


การรักษาผู้ป่วยโรคคาวาซากิ

การดูแลรักษาต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจ โดยการรักษาในระยะแรกประกอบด้วยการให้ยา intravenous immune globulin (IVIG) เข้าหลอดเลือดดำ ในขนาดสูงเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และ หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการอักเสบผนังหลอดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดโป่งพอง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร่วมกับการให้ยาแอสไพริน ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ และลดการอักเสบร่วมด้วย

เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องได้รับการติดตามโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นใน 2-3 เดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องปรับระยะเวลาการให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นโดยให้เลื่อนออกไปอย่างน้อย 11 เดือน นับจากได้รับยารักษา (IVIG) ในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาแอสไพรินต่อไป ร่วมกับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนภาพหัวใจเป็นระยะ จนกว่าหลอดเลือดหัวใจจะกลับมาเป็นปกติ

ถือเป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กต้องระวังอย่างใกล้ชิด หากพบว่าลูกมีไข้สูงโดยเฉพาะนานเกิน 5 วัน ร่วมกับมีอาการดังกล่าว อย่าชะล่าใจ ให้คิดไว้ว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคคาวาซากิได้ ควรรีบพามาพบกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจเพื่อให้ได้รับตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเร็ว

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย