ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้าย

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน

ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้าย

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการระบาดเกือบทั้งปี ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นอย่างประเทศไทยยิ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของยุงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน บ้านไหนที่มีเด็กเล็ก ต้องระมัดระวังโรคไข้เลือดออกเป็นพิเศษ เนื่องจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที



รู้จักโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นอีก แต่สามารถกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่นๆ แทน

การติดต่อนั้นจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งอยู่ได้นาน 1-2 เดือน

> กลับสารบัญ


9 สัญญาณลูกน้อยเสี่ยงไข้เลือดออก

หากมีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรต้องไปพบแพทย์ทันที

  1. ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่อาการแย่ลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
  2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
  3. ปวดท้องมาก
  4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
  6. กระหายน้ำตลอดเวลา
  7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
  8. ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
  9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง

> กลับสารบัญ


อาการของไข้เลือดออกมีกี่ระยะ

สำหรับอาการของคนเป็นไข้เลือดออก มักจะแสดงออกหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5-8 วัน โดยทั่วไปถ้าเป็นการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ครั้งแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะไข้สูง เมื่อเริ่มเป็นจะมีไข้สูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส แม้กินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วไข้ก็ยังไม่ลด อยู่ 2-7 วัน ตาและใบหน้า มักจะแดงกว่าปกติ เบื่ออาหารและมีอาการซึม บางคนอาจมีผื่นขึ้น หรือพบว่ามีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  2. ระยะวิกฤติ จะเกิดประมาณวันที่ 3-6 หลังจากระยะไข้สูงระยะหนึ่งแล้ว ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ในกรณีที่รุนแรงมาก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อกได้ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  3. ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น อาการทั่วไปจะดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันตามตัว

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

นอกจากซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัสซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรกๆ ของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน (แอนตีบอดีย์) ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมี Rapid test ซึ่ง อ่านผลเร็วใน 10-15 นาที

> กลับสารบัญ


โรคไข้เลือดออกดูแลรักษาอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เฝ้าสังเกตอาการช็อกหลังจากไข้ลดลง ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย

> กลับสารบัญ


ป้องกันไข้เลือดออกในเด็กได้อย่างไร?

สามารถป้องกันได้ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน และการป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก และการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

> กลับสารบัญ


วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดีต่อเด็กอย่างไร?

การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทยอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดที่ 1 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengvaxia) ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6-45 ปี สามารถฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (เดือน 0, 6 และ 12) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65% ลดความรุนแรงของอาการเลือดออกได้ 93% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยประมาณ
  • ชนิดที่ 2 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Qdenga) ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ใช้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน กล่าวคือ ทุกคนสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเลือดใดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (เดือน 0 และ 3) มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4%

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการไข้สูงลอยหลายๆ วัน ร่วมกับมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาลูกมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไปอาจเกิดอาการช็อกได้

พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน

พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน

กุมารเวชศาสตร์ / กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
ศูนย์สุขภาพเด็ก






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย