“ไอพีดี” โรคร้ายในเด็กเล็ก ป้องกันด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. ศราวุธ ตั้งมานะกุล

“ไอพีดี” โรคร้ายในเด็กเล็ก ป้องกันด้วยวัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี

ปัญหาสุขภาพของเด็กเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเอง โดยเฉพาะโรคอันตรายต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กทารก อย่างโรคติดเชื้อไอพีดี (โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่รุนแแรง) ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตของเด็กเล็กทั่วโลก คุณพ่อ คุณแม่จึงควรศึกษาวิธีการป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี (IPD) ดีกว่าการรักษา


โรคติดเชื้อไอพีดี ภัยร้ายใกล้ตัวลูก

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) คือ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcal Pneumoniae) ชนิดรุนแรงและรุกราน สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้ เชื้อนิวโมคอคคัสก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ และก่อให้เกิดการติดเชื้อรุกล้ำรุนแรง ได้แก่ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระดูกและข้อ และการติดเชื้อในกระแสเลือด

> กลับสารบัญ


รู้จักเชื้อนิวโมคอคคัส

เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูก และลำคอของทุกคนสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการไอหรือจาม เชื้อนิวโมคอคคัส มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็ก่อโรครุนแรง บางสายพันธุ์ก่อโรคบ่อยแต่ไม่รุนแรง ในประเทศไทยพบว่ามี 13 สายพันธุ์ที่พบบ่อย (90%) ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9v, 14, 18C, 19A, 19F และ 23F โดยในปัจจุบันมีสายพันธุ์เพิ่มได้แก่ 22F และ 33F รวมทั้งหมด 15 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ 19A พบปัญหาดื้อยาสูง ทำให้รักษาได้ยากและพบบ่อย ๆ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันน้อย อาการมีได้ทั้งเป็นพาหะมีเชื้อในทางเดินหายใจแต่ไม่มีอาการ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด

> กลับสารบัญ


อาการเมื่อติดเชื้อนิวโมคอคคัส

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัส คือ มีไข้สูงคล้ายโรคติดเชื้อทั่วไป 2 - 3 วัน ความรุนแรงจะขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อหรือลุกลาม ดังนี้

  • ติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวน เชื้อสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเกิดการช็อก และเสียชีวิตได้
  • ติดเชื้อในระบบประสาท ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ซึม อาเจียน คอแข็ง เด็กทารกจะมีไข้สูง ซึม ร้องกวน กระหม่อมโป่งตึง และชัก ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิต การวินิจฉัยโรคต้องมีการตรวจเพาะเชื้อจากการเจาะกรวดน้ำไขสันหลัง
  • ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดอักเสบ เด็กมีไข้ ไอ หอบ ถ้ารุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากภาวการณ์หายใจล้มเหลว
  • ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน คือ คออักเสบ หูน้ำหนวก (หรือหูชั้นกลางอักเสบ) และไซนัสอักเสบ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องเชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสมองได้

> กลับสารบัญ


โรคไอพีดีอันตรายแค่ไหน

โรคไอพีดีที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ และเยื่อหุ้มในสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ กรมอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และเด็กทารกที่เคยป่วยเป็นโรคไอพีดีมีโอกาสสูญเสียการได้ยิน พิการทางสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และมีอาการชักได้

> กลับสารบัญ


เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดี

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน
  • เด็กที่อยู่สถานรับเลี้ยงเด็กในช่วงกลางวัน
  • เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว

> กลับสารบัญ


การป้องกันโรคไอพีดี

  1. ปลูกฝังเด็กให้รู้จักสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังทำกิจกรรมต่างๆ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
  2. หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  3. การให้ลูกรับประทานนมแม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี ซึ่งนับเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดื้อยาได้ดี

> กลับสารบัญ


สร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนไอพีดี

การป้องกันโรคไอพีดีที่ดีที่สุดในเด็กเล็ก คือ การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี หรือ PCV (Pneumococcal Conjugate Vaccine) ทั้งหมด 3 ชนิด คือ

  • วัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 4, 5, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19F และ 23F
  • วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F และ 23F โดยป้องกันครอบคลุม 9V
  • วัคซีนชนิด 15 สายพันธุ์ (PCV15) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 15 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14 18C, 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F

โดยมีวิธีฉีดดังนี้

หากเริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน ฉีดวัคซีน PCV ไม่ว่าจะเป็น ชนิด 10, 13 หรือ15 สายพันธุ์ ให้ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งที่อายุ 12 - 15 เดือน หรือห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน (รวมฉีดทั้งหมด 4 ครั้ง)

ชนิดวัคซีน ฉีดครั้งที่ 1 ฉีดครั้งที่ 2 ฉีดครั้งที่ 3 ฉีดครั้งที่ 4
IPD 10 2 เดือน* 4 เดือน** 6 เดือน** 12-15 เดือน***
IPD 13 2 เดือน* 4 เดือน** 6 เดือน** 12-15 เดือน***
IPD 15 2 เดือน* 4 เดือน** 6 เดือน** 12-15 เดือน***

หมายเหตุ

  • * หรือเริ่มเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์
  • ** หรือห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
  • *** หรือห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน
  • - หากเริ่มฉีดหลังอายุ 1 ขวบ ฉีด 2 เข็มห่างกันสองเดือน
  • - สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนตัวอื่นได้
  • - หากเคยฉีดชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ ชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) สามารถฉีดชนิด 15 สายพันธุ์ (PCV15) ได้ แต่ต้องฉีด IPD 15 อย่างน้อย 2 เข็ม ขึ้นไป

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคไอพีดีนั้นมีค่ารักษาที่แพง และ ต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ดังนั้น ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่ารักษา ทั้งนี้สามารถปรึกษากุมารแพทย์เพิ่มเติมก่อนฉีดวัคซีนได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก ชั้น 2 โทร. 02-4509999 ต่อ 1132-1133

นพ.ศราวุธ ตั้งมานะกุล นพ.ศราวุธ ตั้งมานะกุล

นพ.ศราวุธ ตั้งมานะกุล
กุมารเวชศาสตร์ / กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ศูนย์สุขภาพเด็ก






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย