‘มะเร็งรังไข่’ มะเร็งในสตรีที่สาว ๆ ไม่ควรชะล่าใจ
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งในสตรี ... หลายคนคงนึกถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเต้านม ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ แต่นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่ได้พบบ่อยเช่นกัน แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งก็คือ “มะเร็งรังไข่” แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการผิดปกติที่ถ่ายทอดของพันธุกรรม โดยจะพบมากในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มสตรีที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ดังนั้นคุณสุภาพสตรีทั้งหลายจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็คอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งรังไข่ ส่วนอาการบ่งชี้จะมีอะไรบ้าง ไปเช็คกันได้เลย
อาการบ่งชี้ มะเร็งรังไข่
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อิ่มง่าย เบื่ออาหาร
- ท้องโต แน่นท้อง หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่อยู่ หรือมีภาวะปัสสาวะลำบาก
- ปวดท้องน้อยบ่อย ๆ
- เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- มีภาวะฮอร์โมนเพศผิดปกติ เช่น เสียงห้าว มีหนวด
- ประจำเดือนมาผิดปกติจากเดิม
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ทำได้โดยการใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค และระยะการลุกลาม ส่วนการใช้รังสีรักษาจะใช้ในกรณีที่โรคมีการแพร่แพร่กระจายไปแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรค
ในการผ่าตัด นอกจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องที่เป็นวีธีมาตรฐานแล้ว การผ่าตัดผ่านช่องท้องก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา ซึ่งมีข้อดีคือ แผลมีขนาดเล็กลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลเหลือเพียง 2-3 วันเท่านั้น แต่จะมีค่าใช้จ่ายที่แพงว่าวิธีการผ่าตัดผ่าหน้าท้อง
หากคุณมีอาการบ่งชี้ดังกล่าว หรือสงสัยว่าตนเองเข้าข่ายที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนจะสายเกินไป เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษา ถึงแม้ว่ามะเร็งรังไข่อาจจะเป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก แต่การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยคัดกรองความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นให้เราได้ โดยไม่ต้องรอให้โรคเกิดการลุกลามและแสดงอาการ