ผ่าตัดกระเพาะอาหาร รักษาโรคอ้วน ลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม, ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. สุทธิเกียรติ จรดล

โรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย จึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้จำนวนผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรักษาโรคอ้วนมีหลายวิธี ทั้งออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการใช้ยา แต่หากการรักษาดังกล่าวไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้ การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เป็นอีกวิธีการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ในระยะยาว รวมถึงปรับปรุงคุณภาพชีวิตและลดความเสี่ยงจากโรคร่วมต่าง ๆ
สารบัญ
- ผ่าตัดกระเพาะอาหาร คืออะไร?
- ทำความรู้จักโรคอ้วน
- อ้วนแค่ไหนต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
- ทำไมถึงต้องผ่าตัดกระเพาะ วิธีการลดความอ้วนปกติไม่ได้ผล?
- ก่อนผ่าตัดกระเพาะอาหาร ต้องตรวจอะไรบ้าง?
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) ทำได้กี่วิธี?
- หลังผ่าตัดกระเพาะควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
- ผลลัพธ์ของการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ผ่าตัดกระเพาะอันตรายไหม?
- ผ่าตัดกระเพาะอาหารที่ไหนดี
- ผ่าตัดกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด โรคร่วมก็ลดด้วย
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผ่าตัดกระเพาะอาหาร คืออะไร?


การผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือ Bariatric Surgery คือ วิธีการทางการแพทย์ที่ใช้รักษาภาวะ โรคอ้วน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวมากเกินไป โดยการผ่าตัดนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถ ลดน้ำหนัก ได้อย่างถาวร (เมื่อปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์) โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหารหรือระบบทางเดินอาหาร ทำให้กินอาหารได้น้อยลง หรือร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง
ทำความรู้จักโรคอ้วน
โรคอ้วน เป็น ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยวัดได้จาก ดัชนีมวลกาย (BMI) ถ้ามีค่า มากกว่า 30 ขึ้นไป จะถือว่าอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่รูปร่างภายนอกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งบางชนิด โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์
อ้วนแค่ไหนต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนจะทำการรักษาแพทย์จะใช้การตรวจร่างกาย พร้อมคัดกรองคนไข้ที่เหมาะสม โดยมีข้อบ่งชี้ ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 37.5 ขึ้นไป โดยที่ไม่มีโรคประจำตัวร่วม
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 32.5 และมีโรคร่วมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคข้อเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเสื่อม ภาวะมีบุตรยาก ภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น
- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ถึง 30 แต่มากกว่า 27.5 ขึ้นไป แต่เป็นโรคเบาหวานชนิดรุนแรง หรือ มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถควบคุมได้
ทำไมถึงต้องผ่าตัดกระเพาะ วิธีการลดความอ้วนปกติไม่ได้ผล?
การผ่าตัดกระเพาะ ถือเป็นทางเลือกในการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีปกติแล้ว เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา แล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ หรือผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนขั้นรุนแรง โดยเฉพาะในคนที่อ้วนมากหรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวานรุนแรง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจรุนแรง เป็นต้น การผ่าตัดจึงช่วยทั้งลดน้ำหนักและลดความเสี่ยงโรคที่อันตรายถึงชีวิต

ก่อนผ่าตัดกระเพาะอาหาร ต้องตรวจอะไรบ้าง?
ก่อนผ่าตัด กระเพาะ อาหาร แพทย์ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือด โดยตรวจหาโรคต้องห้ามในการผ่าตัดใหญ่ การดมยาสลบหรือใส่ท่อช่วยหายใจ เช่น โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจชนิดรุนแรง หรือเป็นโรคปอดชนิดรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถผ่าตัดกระเพาะได้ รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ตรวจภาวะไขมันพอกตับ ตับแข็ง หรือนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) ทำได้กี่วิธี?
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือ การผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จะใช้วิธีการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นเทคนิค แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว (Minimally invasive surgery)โดยการผ่าตัดปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารเพื่อลดน้ำหนักที่นิยมทำในปัจจุบันมี 3 วิธีดังนี้
การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก (Sleeve Gastrectomy)
การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกส่วนใหญ่ หรือ Sleeve Gastrectomy คือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของกระเพาะอาหารให้ลดลง 80% จากความจุประมาณ 1000 ซีซี ให้เหลือความจุประมาณ 150-200 ซีซี เหลือเป็นรูปทรงคล้ายกล้วยหอม หรือ แขนเสื้อ โดยส่วนที่ตัดออกไปจะเป็นส่วนกระพุ้งกระเพาะอาหารที่ยืดขยายได้เมื่อทานอาหารเข้าไป และยังเป็นส่วนที่สร้างฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความหิว คนไข้จะกินน้อยลง อิ่มเร็วขึ้นและไม่หิวง่าย เป็นวิธีไม่ซับซ้อน มีความเสี่ยงน้อย
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส หรือ Roux-en-Y Gastric Bypass เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหาร ด้วยการเย็บกระเพาะส่วนบนให้เป็นถุงเล็กๆ แล้วเย็บเชื่อมกับลําไส้เล็ก เพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและเปลี่ยนเส้นทางเดินของอาหาร เมื่อคนไข้รับประทานอาหาร อาหารจะเข้าสู่กระเพาะส่วนถุงเล็กๆ นี้และผ่านลงลำไส้เล็กส่วนกลางที่นำมาเย็บเชื่อมต่อไว้ โดยไม่ผ่านกระเพาะอาหารส่วนล่างและลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเป็นส่วนที่เกิดการดูดซึมสารอาหารได้มาก วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าวิธีอื่น
การผ่าตัดแบบตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออกร่วมกับการทำบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass)
การผ่าตัดแบบตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออกร่วมกับการทำบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น หรือ Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass เป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลงแบบเดียวกับการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกส่วนใหญ่ (Sleeve Gastrectomy) จากนั้นจะทำการตัดต่อลำไส้เล็กเพื่อสร้างเส้นทางเดินของอาหารใหม่ โดยให้อาหารออกจากกระเพาะแล้วเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนกลางโดยตรง ไม่ผ่านลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นส่วนที่มีการดูดซึมอาหารมากที่สุด วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนปานกลาง
หลังผ่าตัดกระเพาะควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ผ่าตัดกระเพาะ พักฟื้น กี่ วัน คนไข้จะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน หลังจากกลับไปพักที่บ้านสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ แต่งดการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาหักโหมหนัก ประมาณ 14-30 วัน เพื่อลดการกระทบกระเทือนของแผลผ่าตัดกระเพาะ
หลังผ่าตัดกระเพาะ กินอะไรได้บ้าง ด้านการรับประทานอาหารหลังผ่าตัดกระเพาะนั้น สามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ให้เลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเพียงอย่างเดียว และควรแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 4-5 มื้อต่อวัน และลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง ช่วง 1-3 วันแรกอาจรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น น้ำหวานที่ไม่ใส่น้ำตาล นม ปลานึ่ง อกไก่ต้ม เต้าหู้ เป็นต้น
ผลลัพธ์ของการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ผลลัพธ์ของการลดลงของน้ำหนักหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล โดย 1-2 ปี เป็นช่วงที่น้ำหนักลดได้มากที่สุด ประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด หลังจากนี้น้ำหนักอาจจะลดลงได้อีก แต่จะน้อยลง ทั้งนี้การที่น้ำหนักจะคงที่ขึ้นอยู่กับการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ
ผ่าตัดกระเพาะอันตรายไหม?
ด้วยเทคนิคการผ่าตัดกระเพาะในปัจจุบัน จะใช้การผ่าตัดผ่านกล้องทั้งหมด ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นแผลใหญ่ๆ อย่างที่เข้าใจกัน ผลของการผ่าตัดแบบนี้คือ แผลผ่าตัดจะค่อนข้างเล็ก แผลที่ใหญ่ที่สุดของการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะขนาดประมาณ 2 ซม. คือเป็นขนาดที่ใช้เพื่อนำกระเพาะอาหารที่ผ่าตัดแล้วออกมา ข้อดีของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง คือ หลังผ่าตัดเราจะเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้อย่างดี และโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหายใจ หรือภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัด ก็จะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดค่อนข้างเยอะ ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ถือว่าต่ำ โดยเฉพาะเมื่อทำโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน
ผ่าตัดกระเพาะอาหารที่ไหนดี
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน มีศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูงและผ่าตัดโรคอ้วนโดยเฉพาะ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการผ่าตัดกระเพาะอาหารหลากหลายเทคนิค พร้อมบริการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทันสมัย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวในระยะสั้น และลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนไม่ได้มีแค่การผ่าตัด แต่ยังมีการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้คำแนะนำด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย เพื่อให้ลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืน
ผ่าตัดกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด โรคร่วมก็ลดด้วย
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นวิธีการรักษาโรคอ้วน โดยการลดขนาดกระเพาะอาหารหรือเปลี่ยนเส้นทางของระบบย่อยอาหาร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย ลดน้ำหนักได้อย่างยั่งยืน และลดความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง สำหรับผู้ที่มีปัญหาการลดน้ำหนัก โรคอ้วน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้ามารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน ได้เลย
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม, ศูนย์หัวใจ