ปวดหลังช่วงเอว ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

ปวดหลังช่วงเอวเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย สาเหตุของอาการนี้มีได้หลากหลาย ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน การยกของหนัก ไปจนถึงโรคทางกระดูกสันหลังที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไขสันหลังอักเสบ หรือข้อเสื่อม เป็นต้น อาการปวดหลังช่วงเอวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน หากอาการปวดเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือมีอาการรุนแรงร่วมด้วย ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ตรงจุด
สารบัญ
สาเหตุของอาการปวดหลังช่วงเอว


อาการปวดหลังช่วงเอว สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากโรคหรือภาวะทางสุขภาพต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ ดังนี้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน การนั่งผิดท่า การยกของหนักอย่างไม่ถูกต้อง
- การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลังจากอุบัติเหตุ การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือยกของผิดวิธี
- หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
- ภาวะอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ หรือกล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้งานหนัก
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ที่เกิดขึ้นตามวัยทำให้เกิดการเสียดสีของข้อต่อและกระดูก ทำให้ปวดเรื้อรัง ปวดหลังส่วนล่าง
- กระดูกสันหลังคดหรือผิดรูป ทำให้เกิดแรงกดทับผิดปกติและนำไปสู่อาการปวดเอว
- โรคไต เช่น นิ่วในไต หรือการติดเชื้อที่ไต อาจทำให้ปวดบริเวณหลังช่วงเอวด้านข้าง ปวดหลังข้างซ้าย ไต
- โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ
- อาการปวดหลังช่วงเอว ผู้หญิง เกิดจากอะไร อาการปวดเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจทำให้ปวดบริเวณเอวและท้องน้อย
- ความเครียดและความวิตกกังวลอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง
- การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถฟื้นตัวได้ดี
อาการปวดหลังช่วงเอวมีลักษณะเป็นอย่างไร?
อาการปวดหลังช่วงเอวสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ปวดแบบตื้อ ๆ หรือปวดเมื่อย พบได้บ่อยในกรณีที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อหลังมากเกินไป เช่น นั่งนาน ๆ หรือออกแรงยกของหนัก มักไม่รุนแรงแต่สร้างความรำคาญ และอาจเป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดแปล๊บ ๆ คล้ายไฟฟ้าช็อต อาจเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน อาการปวดอาจรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนท่าทางเร็ว ๆ
- ปวดร้าวลงขา มักเกิดจากภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น อาการหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท อาจปวดจากเอวร้าวลงสะโพก ต้นขา ไปจนถึงน่องและเท้า
- ปวดหน่วง ๆ หรือหนัก ๆ บริเวณเอว มักเกี่ยวข้องกับภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ หรือการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง อาจรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อยืนนาน หรือเดินเป็นเวลานาน
- ปวดหลังช่วงเอวร่วมกับอาการชา หรืออ่อนแรงของขา เป็นสัญญาณของภาวะที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังตีบแคบ หากมีอาการขาอ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์
อาการปวดหลังช่วงเอวมีลักษณะเป็นอย่างไร?


การรักษาอาการ ปวดหลังช่วงเอว ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยการรักษาของศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน สามารถแบ่งออกเป็นการรักษาเบื้องต้น และการรักษาทางการแพทย์ ดังนี้
วิธีการรักษาเบื้องต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้ปวดหลังมากขึ้น เช่น การยกของหนัก หรือการนั่งเป็นเวลานาน
- ประคบร้อน-เย็น โดยการประคบเย็น (Cold Pack) ในช่วง 48 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยลดการอักเสบและบวม และ ประคบร้อน (Hot Pack) หลังจากนั้น เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ปรับเปลี่ยนท่าทาง นั่งและยืนให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการนั่งหลังงอหรือยืนเอียงข้าง
- นวดผ่อนคลาย การนวดเบา ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การโยคะ หรือการว่ายน้ำ ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
- การนอนที่เหมาะสม เลือกที่นอนที่ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป และนอนในท่าที่ช่วยลดแรงกดที่หลัง เช่น การนอนตะแคงโดยมีหมอนรองใต้เข่า
วิธีการรักษาทางการแพทย์แบบประคับประคอง
- การทำกายภาพบำบัดลดอาการปวด เช่น การใช้คลื่นความร้อนลึกร่วมกับกระแสไฟสำหรับลดปวดด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ร่วมกับกระแสไฟฟ้า หรือการลดอาการปวดด้วยเครื่องให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงสั้น (Short Wave Diathermy) เป็นต้น
- การรักษาด้วยยา อาทิ การใช้ยากลุ่มแก้อาการปวดและยากลุ่มต้านการอักเสบ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง โดยแพทย์จะเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย เป็นต้น
วิธีการรักษาทางการแพทย์ด้วยการผ่าตัดหลัง
การผ่าตัดหลังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเมื่อการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล และมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือรู้สึกเสียวซ่าบริเวณขาหรือเท้า มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย จากภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ทางแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังจะพิจารณาการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีข้อดีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น พร้อมลดความกังวลถึงอาการปวดแผลหลังผ่าตัด ด้วยเทคนิคการระงับปวดที่ทางโรงพยาบาลนครธนดูแลผู้ป่วยทุกคน
อาการปวดหลังช่วงเอวเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
อาการ ปวดหลังช่วงเอว อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะทางสุขภาพที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด ตำแหน่งปวดหลัง โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง
อาการปวดหลังช่วงเอวเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยของ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเคลื่อนหรือแตกออก แล้วไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง หากมีอาการปวดรุนแรง ปวดร้าวลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคกระดูกสันหลังคด
อาการปวดหลังช่วงเอวสามารถเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคกระดูกสันหลังคดได้ โดยโรคนี้ทำให้กระดูกสันหลังโค้งงอผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบ ๆ กระดูกสันหลังทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังช่วงเอว นอกจากนี้กระดูกสันหลังคดอาจทำให้เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรัง
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังทรุดตัว จากข้อต่อ Facet joint ที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เกิดเสื่อมลง เป็นผลให้ข้อกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างอยู่ชิดกันมากเกินไป ทำให้มีอาการปวดหลังแบบขัด ๆ ภายในข้อ ปวดลึก ปวดเสียว หรือ ปวดหลังช่วงเอวได้
โรคเกี่ยวกับอวัยวะภายใน เช่น
- โรคไต เช่น นิ่วในไต หรือไตอักเสบ จะทำให้มีปวดเอวซ้าย หรือด้านขวา หรือทั้งสองข้าง และอาจมีอาการปวดหลังด้านขวา ปวดหลังด้านซ้าย และ ปวดเอวด้านหลังได้ ปวดร้าวไปที่ขาหนีบหรือช่องท้อง
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ อาจทำให้ปวดบริเวณเอวและท้องน้อย

อาการปวดหลังช่วงเอวแบบไหนอันตราย ควรพบแพทย์
- ปวดหลังรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้
- ปวดหลังเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์
- ปวดหลังร่วมกับอาการชา อ่อนแรง หรือรู้สึกเสียวซ่าบริเวณขาหรือเท้า
- มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย
- มีไข้ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
โดยอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดหลังทั่วไป เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังติดเชื้อ ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
อาการปวดหลังช่วงเอวเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มที่นั่งทำงานนาน ยกของหนัก หรือมีท่าทางการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม แม้อาการปวดเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อนหรือทำกายภาพบำบัด แต่อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หากมีอาการปวดรุนแรง ปวดเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ปวดร้าวลงขา หรือมีอาการร่วมอื่น เช่น ชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน ในการเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง