คุณผู้ชายเช็คด่วน ฟิตปั๋งขนาดนี้ ทำไมถึงมีลูกยาก

ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

คุณผู้ชายเช็คด่วน ฟิตปั๋งขนาดนี้ ทำไมถึงมีลูกยาก

ปัญหาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรส สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย กรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นกับสุขภาพฝ่ายชาย ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องของคุณภาพของอสุจิ โดยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุเรามาดูกันดีกว่าว่าปัจจัยหรือพฤติกรรมอะไรบ้างที่ส่งผลทำให้อสุจิของคุณผู้ชายมีปริมาณน้อยหรือไม่แข็งแรง


ปัจจัยหรือพฤติกรรมที่ส่งผลทำให้อสุจิของคุณผู้ชายมีปริมาณน้อยหรือไม่แข็งแรง

  • น้ำหนักตัวมาก มีรอบเอวใหญ่ จะมีปริมาณน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิน้อย
  • ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งแต่กำเนิด
  • ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ
  • ยา การฉายแสง หรือเคมีบำบัดบางชนิด
  • สารเคมีบางชนิดที่อาจเข้าสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ตะกั่ว ทองแดง ยาฆ่าแมลง
  • ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายสร้างสารที่เป็นอันตรายต่ออสุจิ
  • การดื่มสุรา สูบบุหรี่ทำให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง
  • ภาวะเครียด ส่งผลต่อฮอร์โมนที่ใช้ผลิตอสุจิทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
  • การออกกำลังกายที่มากเกินไป ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำมีผลทำให้การผลิตอสุจิลดลง

ดังนั้น หากคุณผู้ชายที่คิดจะวางแผนสร้างครอบครัวและอยากมีลูกในอนาคต ควรเตรียมความพร้อม ด้วยการตรวจอสุจิ (Semen Analysis) เพื่อดูว่าอสุจิของคุณมีความแข็งแรง เพื่อให้คุณสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม

> กลับสารบัญ


การตรวจวิเคราะห์อสุจิเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในเพศชาย

การตรวจวิเคราะห์อสุจิ หรือตรวจสเปิร์ม (Semen Analysis) เป็นการทดสอบสุขภาพและองค์ประกอบของอสุจิที่ต้องประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปวินิจฉัยและวางแผนการตั้งครรภ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งการตรวจวิเคราะห์อสุจิยังเป็นการตรวจยืนยันผลสำเร็จหลังการทำหมันฝ่ายชายด้วย โดยวิธีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจินั้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

  1. การตรวจด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) พิจารณาจากปริมาตร ความเป็นกรด-ด่าง ความหนืด การละลายตัว และ
  2. การตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) พิจารณาจากการทดสอบอสุจิที่ยังมีชีวิต ความเข้มข้น การเคลื่อนที่ของอสุจิ รูปร่างอสุจิ เป็นต้น

สำหรับผลวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย โดยการตรวจอสุจินั้นมีดังนี้

  • ด้านปริมาตร โดยทั่วไปน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาครั้งหนึ่งจะมีปริมาตร 2-6 มิลลิลิตร ถ้าหากมีปริมาตรที่น้อยเกินไป แสดงว่าการหลั่งจากถุงเก็บน้ำเชื้อบกพร่อง อาจมีสาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอัณฑะ หรือเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตันได้
  • ด้านปริมาณ ตรวจความความเข้มข้นของตัวอสุจิ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ 15 ล้านตัว / มิลลิลิตร พร้อมทั้งดูการเคลื่อนไหวของอสุจิ มีการเคลื่อนที่ที่ดี คล่องแคล่ว ว่ายเก่ง ตรงตามคุณสมบัติที่ดีของอสุจิหรือไม่ โดยต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ ร้อยละ 40 หากตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี ส่งผลให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้
  • ด้านรูปร่าง รูปร่างตัวอสุจิ ปกติจะมีส่วนหัว (Head) เป็นรูปวงรี ส่วนลำตัว (Midpiece) ป้อมและสั้นกว่าส่วนหางเล็กน้อย ส่วนหาง (Tail) จะยาวกว่าส่วนหัว 7-15 เท่า มีลักษณะค่อยๆ เรียวเล็กลง เรื่อยๆ ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อเคลื่อนไหวไปข้างหน้า โดยปกติน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะมีตัวอสุจิที่รูปร่างผิดปกติปะปนอยู่ด้วย แต่มักไม่เกินร้อยละ 30-40 ถ้าเกินกว่านี้ ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการปฏิสนธิกับไข่ได้

> กลับสารบัญ


ข้อควรปฏิบัติและคำแนะนำการเก็บน้ำอสุจิ

ผู้รับการตรวจควรเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น งดเว้นการหลั่งอสุจิอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ทำการเก็บอสุจิในขณะร่างกายปกติพร้อมรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ปราศจากการติดเชื้อใดๆ ขณะเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิต้องล้างมือให้สะอาดและเก็บโดยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ห้ามเก็บโดยใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยมีสารหล่อลื่นซึ่งสามารถทำให้อสุจิตายได้ เป็นต้น หลังจากเก็บน้ำเชื้อได้แล้ว จะถูกนำส่งห้องปฏิบัติการทันที หรือภายใน 1 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิปกติ หากผลการวิเคราะห์น้ำอสุจิพบความผิดปกติ แพทย์มักมีการขอตัวอย่างน้ำอสุจิเพิ่มเพื่อตรวจซ้ำ ควรทิ้งระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิครั้งต่อไป

> กลับสารบัญ


ข้อจำกัดในการเก็บน้ำอสุจิ

  • กรณีฝ่ายชายไม่สามารถเก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเองได้ สามารถใช้วิธีร่วมเพศกับภรรยาแล้วหลั่งน้ำเชื้อใส่ภาชนะที่ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ แต่วิธีนี้อาจเก็บเชื้ออสุจิได้ไม่ทั้งหมด และทำให้คุณภาพลดลง
  • กรณีไม่สะดวกเก็บน้ำอสุจิที่โรงพยาบาล สามารถเก็บน้ำเชื้ออสุจิที่บ้านได้ แต่ต้องเก็บเชื้ออสุจิใส่ภาชนะที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ให้นำเชื้ออสุจิส่งไปยังห้องปฏิบัติการ ภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่เก็บได้ ทั้งนี้ห้ามนำเชื้ออสุจิใส่ภาชนะที่บรรจุความเย็นหรือแช่แข็งโดยเด็ดขาด

> กลับสารบัญ


ภาวะมีลูกยากนั้นอาจะเกิดได้จากหลายปัจจัย การตรวจอสุจิก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยหาสาเหตุได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด ดังนั้นจึงแนะนำให้คู่สามีภรรยาที่มีลูกยาก ควรตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิร่วมกับการตรวจสุขภาพด้านอื่นด้วย โดยทางออกในการแก้ปัญหาการมีลูกยาก มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าอยู่มากมาย ที่สามารถเป็นตัวช่วยในการให้คู่รักมีลูกได้อย่างที่ตั้งใจ

นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์ นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์

นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย