ภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า อาการตามมาหลังจากติดเชื้อโควิด-19

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

ภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า อาการตามมาหลังจากติดเชื้อโควิด-19

หลังจากที่ผู้ป่วยบางรายหายจากโควิด-19 แล้ว พบว่ายังมีกลุ่มอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่เรียกกันว่า ลองโควิด (Long COVID) โดยอาการหนึ่งในนั้น คือ สมองเสื่อมถอย สมองล้า (brain fog) ซึ่งเป็นอาการทางสมองและระบบประสาท ที่พบได้บ่อยหากมีอาการรู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใด มีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือไม่สามารถรับมือกับหลายๆ สถานการณ์ได้พร้อมกัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง


Long COVID กับอาการทางสมองและระบบประสาท

เมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้วอาการอักเสบผิดปกติขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง หรือเกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือดในสมองในช่วงของการติดเชื้อโควิด จะมีผลทำให้มีอาการหลงเหลืออยู่ได้ เนื่องจากระบบประสาทหรือสมองนั้นยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนดังเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนงงสับสน เกิดภาวะสมองล้า การสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น และภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน มีอาการอ่อนแรงหรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด เป็นต้น


รู้จักภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า

ภาวะสมองเสื่อมถอย เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะการตัดสินใจวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการ รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใด ความจำแย่ลง ส่งผลเสียต่อการทำงานในระยะยาวได้ มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด-19

ภาวะสมองล้า (brain fog) เป็นภาวะที่สมองมีการทำงานลดลง โดยส่งผลให้การคิดและตัดสินใจช้าลง การวางแผนและแก้ปัญหาลดลง รวมถึงการลดลงของสมาธิ (Attention) บางคนอาจเป็นมากจนส่งผลให้ลืมความจำระยะสั้น หรือทำให้ไม่สามารถทำงานที่เคยทำเป็นประจำได้


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า

  • อาการติดเชื้อระยะเฉียบพลันที่รุนแรงและมีภาวะขาดออกซิเจน
  • มีโรคทางสมองเดิม เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
  • ผู้ที่มีอายุมากและมีโรคร่วมหลายโรค
  • มีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า และวิตกกังวล
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล

ภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า หลังจากติดโควิด-19

ภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า หลังจากติดโควิด-19 สามารถเกิดได้กับผู้ที่ติดเชื้อทุกคน ทั้งที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ข้อดี คือ ภาวะนี้สามารถฟื้นฟูให้การทำงานของสมองกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่อีกทางหนึ่งก็อาจสามารถกลับมาเป็นได้อีกเช่นกัน หากยังรักษาไม่ตรงจุด ซึ่งอาการของภาวะสมองล้า มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม การเรียน การทำงาน รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ เป็นต้น


ต้องทำอย่างไรเมื่อมีอาการ

ภาวะนี้สามารถฟื้นฟูให้การทำงานของสมองกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ เมื่อเวลาผ่านไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลให้สุขภาพสมองแข็งแรง มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองล้า หรือป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ การดูแลตนเองจึงมีส่วนสำคัญในการหายของโรค โดยมีคำแนะนำดังนี้

  1. รักษาสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  2. นอนหลับเป็นเวลา ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  3. รับประทานยาและติดตามการรักษาโรคประจำตัวให้ดีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล
  4. ทำกิจกรรมที่มีส่วนในการกระตุ้นสมอง หรือ งานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย
  5. บริหารจัดการความเครียดของตนเอง และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง
  6. หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเองโดยไม่จำเป็น เนื่องจากยาบางชนิดมีผลทำให้สมรรถภาพทางสมองลดลงได้
  7. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายหลังจากหายป่วย
หากมีอาการสมองเสื่อมถอย สมองล้า ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน การเข้าสังคม และมีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านสองและระบบประสาท ทำการตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย และรับการรักษาอย่างตรงจุด


พญ.รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ พญ.รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

พญ.รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ
ประสาทวิทยา
ศูนย์สมองและระบบประสาท




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย