อาการปวดหลังกับโรคหัวใจสัมพันธ์กันอย่างไร

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

อาการปวดหลังกับโรคหัวใจสัมพันธ์กันอย่างไร

อาการปวดหลัง หมายถึง อาการปวด อาการเมื่อย อาการเจ็บหรืออื่นๆ ในบริเวณแนวกลางหลังตั้งแต่ส่วนอกลงไปถึงส่วนเอวและก้นกบ อาการปวดหลังอาจจะเกิดจากกระดูกสันหลัง ไขสันหลังและระบบประสาท หรือที่กล้ามเนื้อ นอกจากอาการปวดหลังจะเกิดจากความผิดปกติดังกล่าวแล้วแล้วยังอาจเกิดจากอวัยวะภายในได้อย่างโรคหัวใจ ซึ่งมักจะเป็นอาการปวดหลังที่ค่อนข้างรุนแรงและฉุกเฉิน เพราะถ้าอวัยวะภายในไม่อักเสบมากหรือไม่มีอาการรุนแรงมาก ก็มักจะไม่ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น


อาการปวดหลังสัมพันธ์อย่างไรกับโรคหัวใจ

อาการปวดหลังจากอวัยวะภายในนั้น เมื่อแบ่งอวัยวะภายในบริเวณทรวงอก จะพบว่าหัวใจตั้งอยู่ภายในส่วนหน้าของทรวงอก เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ส่วนใหญ่ด้วยอาการเจ็บหน้าอกมากกว่า แต่เมื่อใดที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง แพทย์จะให้ความสำคัญกับอวัยวะบริเวณส่วนหลัง และพยายามตรวจยืนยันว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากไม่พบความผิดปกติใดๆ แพทย์จะตระหนักว่าจริงๆ แล้วผู้ป่วยมีอาการปวดที่บอกตำแหน่งไม่ชัดเจนหรือเป็นอาการปวดร้าวมาจากตำแหน่งอื่นหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคหัวใจ


อาการปวดหลังที่เกิดจากหัวใจ

อาการปวดหลังที่เกิดจากอวัยวะภายใน ถ้าเกิดที่บริเวณหลังส่วนอก หรือ ส่วนทรวงอก มักเกิดจากหัวใจ โดยโรคหัวใจที่ทำให้ปวดหลัง ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเมื่อทำงานหนัก หรือรีบ หรือเครียดมากๆ เวลาพักจะหาย ถ้าอาการเจ็บหน้าอกนี้เป็นรุนแรง จะร้าวไปปวดที่กลางหลังระหว่างสะบักได้
  2. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่กลางอกโป่งพอง อาจทำให้ปวดหลังได้ ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่นี้โป่งพอง (aortic aneurysm) และกำลังจะแตก หรือผนังของหลอดเลือดนี้แยก ซึ่งในกรณีหลังจะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและหลังอย่างรุนแรงและเกือบทั้งหมดเป็นภาวะฉุกเฉิน ส่วนในกรณีแรกอาการมักจะค่อยเป็นค่อยไปและค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อาการของโรคหัวใจที่เกิดขึ้นร่วมกับปวดหลัง

  • อาการเจ็บหน้าอก หรือเจ็บร้าวไปที่ตำแหน่งอื่น
  • อาการเหนื่อย ผู้ป่วยมักจะเหนื่อยตอนออกแรง เหนื่อยในท่านอน
  • อาการขาบวม
  • อาการริมฝีปากเล็บมือเล็บเท้าเขียว

การตรวจและรักษา

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกายเพื่อให้การวินิจฉัยประเมินความเสี่ยงเพื่อคัดแยกโรค และการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำเอคโคหัวใจ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นต้น

ซึ่งการรักษาโรคหัวใจจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่พบ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจนอันตรายถึงชีวิต แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการฉีดสี ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ มากอาจจะได้รับการรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือการทำบอลลูนหัวใจ

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการปวดหลังอาจมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจได้ หากมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดแบบเฉียบพลัน พร้อมกับมีอาการเจ็บหน้าอก หรือเจ็บร้าวไปที่ตำแหน่งอื่น เหนื่อยจากการออกแรง ให้เข้าพบแพทย์เพื่อการการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างทันที



พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล
แพทย์อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย