เช็กให้ชัวร์ แค่หลงลืมตามวัยทั่วไป หรือ ภาวะสมองเสื่อม

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

เช็กให้ชัวร์ แค่หลงลืมตามวัยทั่วไป หรือ ภาวะสมองเสื่อม

หลายๆ คน มีอาการหลงลืมในบางเรื่อง ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน ส่วนมากอาจเป็นการเดินไปหยิบอะไรสักอย่าง แต่เมื่อถึงที่แล้วกลับนึกไม่ออกว่าจะหยิบอะไร นั่นเรียกว่าอาการหลงลืมทั่วไป ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในบางครั้งบางอาการก็อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ใช่เพียงแค่อาการหลงลืมปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน แต่เป็นอาการที่เป็นผลมาจากภาวะสมองเสื่อม ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรม บุคลิกภาพและอารมณ์ รวมถึงคนในครอบครัว และคนรอบข้างอีกด้วย


หลงลืมตามวัยกับหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อม

หลงลืมตามวัย

อาการหลงลืม พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในวัยรุ่น และวัยทำงานที่ต้องทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน เมื่อรับข้อมูลอะไรมาก ๆ เข้ามาพร้อมกัน บางทีสมองก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่ตั้งใจตีความสิ่งนั้น ๆ เพื่อนำมาเก็บไว้ในหน่วยความทรงจำ เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกความจำตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลาที่ต้องการเรียกข้อมูลออกมาใช้จึงทำไม่สำเร็จ ซึ่งก็ทำให้ลืมสิ่งนั้น ๆ ไป หากสมองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ สำหรับผู้สูงอายุ สมองที่ใช้งานมานานหลายปี จะมีความเสื่อมซึ่งเกิดขึ้นตามวัย เช่น การเก็บกุญแจรถไว้ในลิ้นชักซึ่งเป็นที่ประจำ แต่บังเอิญครั้งนี้ไปเก็บไว้ในกระเป๋าโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อถึงเวลาจะใช้จึงไปหาในลิ้นชักที่เคยเก็บเป็นประจำตามความเคยชิน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นอาการหลงลืมตามวัยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร


หลงลืมจากภาวะสมองเสื่อม

อาการหลงลืมที่มาจากภาวะสมองเสื่อม มักจะเป็นการหลงลืมเหตุการณ์ช่วงเวลายาวๆ ไปทั้งช่วง จำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก หรือลืมแล้วลืมเลย ลืมแม้กระทั่งทักษะการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว เช่น กรณีที่ผู้สูงอายุที่เคยถอดสร้อยคอตัวเองให้ลูกชาย เพื่อรับขวัญลูกสะใภ้ แต่พอมาเจอกันภายหลังกลับถามลูกสะใภ้ว่า “สร้อยคอฉันไปอยู่กับเธอได้ยังไง” นี่เป็นการลืมเหตุการณ์ไปทั้งช่วง ที่แสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น แบบนี้อาจเป็นไปได้ว่าอาการหลงลืมดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้


ความแตกต่างระหว่างหลงลืมตามวัยกับภาวะสมองเสื่อม

อาการหลงลืมจะผิดปกติหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่ลืมว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายาวๆ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ดังนี้


ผู้สูงอายุหลงลืมตามวัย ผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
  • จะบอกว่าตนเองความจำไม่ดี แต่สามารถบอกได้ว่าลืมอะไร
  • มีความกังวลเกี่ยวกับความทรงจำของตนเอง
  • จำเรื่องราวสำคัญได้แต่ บางครั้งอาจใช้เวลานึกเล็กน้อย
  • บางครั้งนึกคำที่จะพูดไม่ได้
  • ไม่หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคย บางครั้งอาจใช้เวลานึกเล็กน้อย
  • ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปได้ และเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ได้
  • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ปกติ
  • ต้องให้ผู้อื่นช่วยทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ
  • ไม่สามารถนึกออกว่าตนเองลืมอะไร
  • ครอบครัวมีความกังวลเกี่ยวกับความจำของผู้ป่วยมากกว่าตัวผู้ป่วยเอง
  • ความจำระยะสั้นแย่ลง ลืมเหตุการณ์สำคัญไปทั้งช่วง และความสามารถในการสนทนา
  • เรียกชื่อสิ่งของผิด เช่น เรียกช้อนเป็นส้อมแทน
  • หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคยในขณะที่เดิน หรือ ขับรถ
  • ไม่สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปได้ และไม่สามารถเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ ได้
  • ขาดความสนใจในการเข้าสังคม และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ภาวะสมองเสื่อมเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) เป็นความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ และการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการเข้าสังคม ถ้าหากการทำงานของสมอง 1 ใน 6 ด้าน อย่างใดอย่างหนึ่งสูญเสียการทำงานไปหรือเสียมากถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย

โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามสาเหตุ ได้แก่ กลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด และ กลุ่มที่รักษาให้ดีขึ้นได้ เช่น ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือเกิดจากการมีน้ำคั่งในโพรงสมองมากกว่าปกติ หรือเกิดจากการมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง


การวินิจฉัยอาการหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อม

แพทย์จะวินิจฉัยอาการหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อม ได้ดังนี้

  1. การซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง
  2. การทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข
  3. การตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือดต่างๆ การตรวจภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

แนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อม

การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทหรือเกิดจากโรคอัลไซเมอร์นั้น การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/กระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน (Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) / Transcranial Direct Current Stimulation (TDCS)) เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทนั้น จะเป็นการรักษาสาเหตุของโรคเป็นหลัก
หากผู้สูงอายุ หรือคนใกล้ชิดในครอบครัว เริ่มมีอาการหลงลืม และไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาท เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนรักษาป้องกันอย่างถูกวิธี





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย