คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย :

คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร

หัวใจ ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อเซลล์พิเศษที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง (pacemaker cell) ซึ่งเซลล์นี้พบได้ในหัวใจเท่านั้น โดยมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ในหัวใจห้องบนขวา (SA node) และต่ำลงมาระหว่างห้องบนและห้องล่าง (AV node) เซลล์เหล่านี้จะสร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ 60-100 ครั้งต่อนาที โดยห้องบนจะสร้างจังหวะที่รวดเร็วกว่าจึงเป็นตัวหลักในการกำหนดจังหวะ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านจากห้องบน วิ่งลงมาที่ห้องล่างโดยมีการหน่วงเล็กน้อยที่ระหว่างทาง ทำให้หัวใจห้องบนบีบตัวก่อนห้องล่างเล็กน้อยเพื่อเป็นการไล่เลือดตามทิศทางที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง


หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งแพทย์สามารถวิเคราะห์ได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


อาการ

  • วิงเวียน
  • หน้ามืด ตาลาย
  • ใจสั่น
  • เป็นลม หมดสติ

การรักษา

  1. ใช้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
  2. ใส่เครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ (Pacemaker)

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation)

เป็นหัตถการเพื่อฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอ ที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้มากเพียงพอ


การเตรียมตัวก่อนใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  1. งดยาตามแพทย์แนะนำ
  2. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนฝังเครื่อง
  3. ถอดอุปกรณ์และเครื่องประดับต่างๆเก็บไว้ที่ห้องพัก
  4. เจ้าหน้าที่จะโกนขนบริเวณหน้าอกข้างที่จะใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (แพทย์นิยมใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแขนข้างที่ผู้ป่วยไม่ถนัด)
  5. พยาบาลจะเปิดเส้นเลือด เพื่อให้น้ำเกลือบริเวณข้อมือด้านใดด้านหนึ่ง

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  1. ในห้องตรวจเมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงจะมีเจ้าหน้าที่ ทำการติดอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดสัญญาณชีพตลอดระยะเวลาที่ทำหัตถการ
  2. พยาบาลจะทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าอก
  3. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้ารู้สึกเจ็บปวดมากสามารถบอกแพทย์ได้ตลอดเวลา
  4. แพทย์เปิดแผลบริเวณใต้ไหปลาร้าข้างใดข้างหนึ่งเพื่อทำการใส่สายไปตามหลอดเลือดดำเข้าสู่หัวใจ และวางตำแหน่งที่เหมาะสม
  5. หลังจากนั้นแพทย์จะทำการต่อสายเข้ากับตัวเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ แล้วฝังไว้ต้ผิวหนัง
  6. ทำการเย็บปิดแผล

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  1. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  2. สายเลื่อนหลุด
  3. เลือดออก
  4. ติดเชื้อ
  5. กล้ามเนื้อหัวใจทะลุ
  6. ปอดแตก

การปฏิบัติตัวหลังใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  1. รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบตามแพทย์สั่ง
  2. การปฏิบัติตนเรื่องการใช้แขน
    • ใน 7 วันแรก ไม่ให้ยกแขนด้านที่ใส่เครื่อง โดยจะมีสายคล้องแขนไว้ตลอดเวลา
    • แขนแนบลำตัวไม่กางไหล่ จนมาเปิดแผล พบแพทย์เมื่อครบกำหนด 1 สัปดาห์
    • 7 วัน ถึง 1 เดือน กางแขนระดับไหล่
    • มากกว่า 1 เดือน ยกเหนือไหล่ได้
  3. งดใส่เสื้อสวมหัว (ใส่เสื้อแบบติดกระดุมหน้า)
  4. ช่วงแรกที่แผลยังปิดไม่สนิท จะปิดแผ่นกันน้ำ โดยห้ามแกะเองเด็ดขาด จนกว่าจะกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง แต่ถ้าแผลมีการอักเสบ บวม แดง ให้รีบมาพบแพทย์
  5. ภายใน 1เดือนให้หลีกเลี่ยงการยกของหนักแขนข้างที่ใส่เครื่อง และไม่แกว่งแขนวงกว้างหรือสูง เพื่อป้องกันสายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหลุดจากตำแหน่ง
  6. หลีกเลี่ยงการถู กด หรือเกาบริเวณแผล
  7. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม เหนื่อยหอบผิดปกติ สะอึกตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและตรวจสอบการทำงานของเครื่อง
  8. ควรพบแพทย์ตามนัด เพราะจะได้รับการตรวจเช็คเครื่องอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. หลีกเลี่ยงการนวดหน้าอก
  2. บริเวณที่มีคลื่นไฟฟ้า หรือ สนามแม่เหล็กแรงสูง
  3. หากต้องผ่าตัดหรือรักษาด้วยการฉายแสงหรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ และพิจารณาก่อนเข้าเครื่อง
  4. ควรพกบัตรประจำตัวผู้ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเสมอ

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย