“มะเร็งเต้านม” เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องรู้
ศูนย์ : ศูนย์รักษ์เต้านม
บทความโดย : นพ. กำพล รัชวรพงศ์

โรคมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก และในปัจจุบันหญิงไทยจะป่วยเป็นมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้ามะเร็งปากมดลูกโดยพบประมาณ 40 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย กล่าวได้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้หญิงมากๆ ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับสาเหตุและอาการ รวมถึงการรักษาของโรคนี้ให้มากขึ้น
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม (Etiology) ส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ดังนี้
- เพศ เพศหญิงจะเป็นมากกว่าชาย 100:1
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะเสี่ยงมากขึ้น
- มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย (น้อยกว่า 40 ปี)
- ประจำเดือนเริ่มมาตั้งแต่อายุน้อย (มาก่อนกว่า 12 ปี)
- หมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55 ปีแล้วยังไม่หมดประจำเดือน)
- มีลูกคนแรกเมื่ออายุมากขึ้น (มากกว่า 30 ปี)
- การกินยาฮอร์โมนวัยทองหรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
- เคยได้รับการฉายรังสีที่หน้าอก
อาการและอาการแสดงของมะเร็งเต้านม
- คลำพบก้อนในเต้านม
- มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเลือดจะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง
- มีความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านม โดยผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม หรือมีรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือเต้านมผิดรูปร่างไปจากเดิม
- ความผิดปกติของหัวนม เช่น เป็นแผลที่หัวนม
- เจ็บเต้านม (ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่เจ็บ)
- ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการทำแมมโมแกรม (Mammography) หรืออัลตร้าซาวด์(Ultrasound)
วิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการส่งตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mamography) จัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ทำในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปี โดยสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
- การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ทำในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี
เมื่อพบก้อนเนื้อหรือจุดผิดปกติ แพทย์ก็จะทำการเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy) ถ้าผลเป็นมะเร็งเต้านมก็จะทำการผ่าตัดรักษาต่อไป
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษา ได้แก่
- การผ่าตัด ( Surgery) ซึ่งถือเป็นการรักษาหลัก ประกอบด้วย การผ่าตัดเต้านม และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งมีทั้ง
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conservative Surgery) เป็นการรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่ โดยตัดเนื้อนมออกเพียงบางส่วนร่วมกับการฉายแสงหลังการผ่าตัด
- การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) ซึ่งอาจจะมีการเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย (Breast Reconstruction) โดยการใส่ซิลิโคน (Prosthesis) หรือใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง (Autologous flap)
- การฉายแสง (Radiotherapy)
- การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- การใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy)
- การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy)
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิงและทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่ง การรักษาต้องเป็นแบบสหสาขา (Multimodality) ได้แก่ ศัลยแพทย์เต้านม รังสีแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง มาร่วมกันให้การรักษา หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรกมะเร็งสามารถหายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรรู้จักการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจบ่งถึงมะเร็งเต้านมได้ ที่สำคัญควรหมั่นตรวจสุขภาพ คัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี