ว่าที่บ่าวสาวมือใหม่ฟังไว้! ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ควรต้องตรวจอะไรบ้าง

ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้, ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

ว่าที่บ่าวสาวมือใหม่ฟังไว้! ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ควรต้องตรวจอะไรบ้าง

สำหรับว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวมือใหม่ที่กำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมงานแต่งงาน จนอาจลืมไปว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน นอกจากทำให้ทราบว่าสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่พร้อมแค่ไหน เนื่องจากโรคทางพันธุกรรม โรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างอาจซ่อนอยู่โดยไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรม จะได้วางแผนการรักษา หรือหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรได้ถูกทาง ช่วยให้การมีบุตรเป็นไปอย่างราบรื่น


ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

ไม่ว่าสุขภาพจะแข็งแรงเพียงไร ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน โดยมีเหตุผลหลักๆ ดังนี้

1. เพื่อสกัดกั้นการส่งผ่านโรคสู่คนที่เรารัก

ปัจจุบันโอกาสส่งผ่านโรคสู่กันและกันมีมาก ทั้งการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และผ่านทางเลือด บางโรคอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดในระยะแรกๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ หรือ HIV การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจึงช่วยลดโอกาสเสี่ยง และอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนของคู่ชีวิต รวมทั้งลดการส่งผ่านโรคจากแม่สู่ลูกน้อยได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งคงไม่ดีแน่ถ้าลูกน้อยหรือคนที่คุณรักติดโรคจากคุณ


2. พร้อมเป็นคุณแม่มือใหม่ที่สมบูรณ์

ด้วยไลฟ์สไตล์ปัจจุบันของสาวๆ ยุคใหม่ที่มักทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นหลัก ทำให้สาวๆ ส่วนใหญ่แต่งงานช้าลงและตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก นั่นก็หมายความว่ายิ่งตั้งครรภ์ตอนอายุมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และความดันโลหิตสูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อภาวะแท้ง ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่มือใหม่ที่สมบูรณ์ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง


3. เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

บางโรคสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หากฝ่ายหญิงหรือชาย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคทางพันธุกรรม โอกาสที่โรคเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดมาสู่ลูกน้อยของคุณก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งจะทำให้ทราบว่าหากมีลูกจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากน้อยเพียงใด


4. ผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว

จะมีความเสี่ยงของโรคมากขึ้น หากมีการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน และการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ จะช่วยให้คุณวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย


ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานต้องตรวจอะไรบ้าง

เพราะการมีสุขภาพที่ดี ไม่ใช่เพียงการที่เราไม่มีภาวะความเจ็บป่วยแสดงออกมาให้เห็น แต่ยังหมายถึงการไม่มีพาหะของโรคต่าง ๆ แอบแฝง ที่สามารถส่งต่อไปยังคู่รักของเราหรือถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกน้อยในอนาคตได้ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จะช่วยตรวจคัดกรองดูความสมบูรณ์ของร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์อย่างละเอียด (Physical Examination by OB-GYN) จะเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งฝ่ายชายและหญิง เช่น การวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจน้ำตาลในเลือด ไทรอยด์ การทำงานของไต ตรวจสุขภาพช่องปาก เป็นต้น รวมทั้งตรวจดูว่ามีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ หากตรวจว่าพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • การตรวจหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO and Rh Grouping) สาเหตุที่ต้องตรวจว่าแต่ละคนมีเลือดกรุ๊ป A, B, AB หรือ O ก็เพื่อความสะดวกในกรณีที่ต้องการเลือดฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุแล้วมีอาการเสียเลือดมาก จะได้จัดหากรุ๊ปเลือดได้ทันท่วงที นอกจากนี้การตรวจ Rh factor ก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะคนไทยทั่วไปมี Rh+ และ Rh- หากรู้ไว้ก็มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากหากมารดาที่มี Rh- ตั้งครรภ์และคู่สมรสมี Rh+ ก็จะมีโอกาสที่ลูกในท้องจะมี Rh+ได้ หากมีการให้ยา Rhogam แก่มารดา ซึ่งเป็นตัวที่ไม่ให้ร่างกายแม่สร้างภูมิต่อ Rh ของลูก เมื่อตั้งครรภ์ครั้งที่สองจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อลูก
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) เพื่อดูภาวะซีด โลหิตจาง ดูความเข้มข้นของเกล็ดเลือด และปริมาณเม็ดเลือดขาว
  • ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม-ธาลัสซิเมีย (Hb Typing) เป็นการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจแอบแฝงอยู่ เพื่อให้ทราบว่าคู่สมรสนั้น เช่น เป็นโรคธาลัสซิเมียเพื่อดูว่าเป็นพาหะหรือไม่ มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วพบว่าคนไทยประมาณ 30-40% เป็นพาหะ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการสืบทอดทางพันธุกรรม หากพ่อและแม่เป็นโรค หรือทั้งคู่เป็นพาหะชนิดเดียวกัน ก็จะส่งผลกระทบถึงลูกได้
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซี (HBs Ag/HCV) ไวรัสตับอักเสบ บีและซี สามารถติดต่อได้ทางเลือดและเพศสัมพันธ์ โดยผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการไม่ค่อยชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากตรวจแล้วพบตั้งแต่เนิ่นๆ ว่ามีเชื้อ แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการดูแลรักษา และป้องกันไม่ให้ถ่ายทอดไปสู่บุตร
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Anti-HBs) ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ตรวจหาการติดเชื้อ เอช ไอ วี หรือ เชื้อเอดส์ (Anti HIV) เป็นการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อหาทางรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที
  • ตรวจการหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) เป็นการตรวจหาโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ หรือมีผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต อย่างโรคหนองในเทียมที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานและเกิดภาวะมีบุตรยากในที่สุด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG) เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (เฉพาะผู้หญิง) หากไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพราะหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติได้ เช่น หูหนวก ตาผิดปกติ ตับม้ามโต มีผื่นคล้ายจุดเลือดออก การเจริญเติบโตและพัฒนาการผิดปกติ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ว่าที่บ่าวสาวควรรับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานกับทีมแพทย์ผู้ชำนาญในการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันความเสี่ยงและเตรียมพร้อมที่จะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ เพราะหากพบความผิดปกติ หรือพบความเสี่ยง จะได้วางแผนการใช้ชีวิต วางแผนการรักษาและหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ถูกต้องอย่างมีสุขภาพดี


นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์ นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์

นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้, ศูนย์สุขภาพนครธน

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย