อยากมีลูก - แช่แข็งไข่ ฝากไข่ ทางเลือกสำหรับคนอยากมีลูก

ศูนย์ : ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

อยากมีลูก - แช่แข็งไข่ ฝากไข่ ทางเลือกสำหรับคนอยากมีลูก

ปัจจุบัน ผู้หญิงยุคใหม่แต่งงานช้าลง โดยเฉลี่ยที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ถึงจะแต่งงาน ส่วนมากทุ่มเทกับงาน การเที่ยว และการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ห่วงแหนความโสด รอสร้างอนาคตครอบครัวกับคนที่ใช่ในวันข้างหน้า แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป ความเสื่อมของร่างกายก็มากขึ้นทำให้โอกาสในการมีลูกก็ยากเช่นกัน ผู้หญิงยุคใหม่จึงหันมาสนใจในเรื่องฝากเซลล์ไข่และแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น


การแช่แข็งเซลล์ไข่ (Oocyte freezing) คืออะไร

การแช่แข็งเซลล์ไข่ (Oocyte freezing) คือ การที่ผู้หญิงเก็บเซลล์สืบพันธุ์หรือที่เรียก “ไข่”  ที่ได้จากกระตุ้น เก็บออกมาภายนอกร่างกายและนำมาแช่แข็งเอาไว้ในอุณหภูมิที่เย็นจัด -196 องศาเซลเซียส จำนวนไข่ที่เก็บได้ ขึ้นกับปริมาณไข่ต่อรอบเดือนที่มีอยู่ในผู้หญิงของแต่ละคน โดยเฉลี่ยประมาณ 10-15 ใบ แต่สำหรับผู้หญิงที่มีจำนวนไข่มาก อาจเก็บได้มากถึง 20-30  ใบได้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคน


ขั้นตอนการเก็บเซลล์ไข่มาแช่แข็ง

ขั้นตอนของการแช่แข็งไข่ ใช้กระบวนการเดียวกันกับการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว โดยผู้ที่ต้องการฝากเซลล์ไข่ จะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายและตรวจเลือด หากไม่พบปัญหาใด จึงจะสามารถดำเนินการกระตุ้นไข่ต่อไปได้ เมื่อถึงขั้นตอนเก็บไข่ออกมาภายนอกร่างกาย โดยดูดผ่านทางช่องคลอดคัดเอาไข่ที่มีความสมบูรณ์ เพื่อเก็บรักษาไว้ในน้ำยาเลี้ยงและแช่แข็งในไนโตรเจนเหลว ในห้องปฏิบัติการณ์ที่มีอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาละลายออกมาใช้งาน


การตรวจร่างกายก่อนฝากเซลล์ไข่

  1. ตรวจเลือด 
  2. ตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส เป็นต้น
  3. ตรวจโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย
  4. เตรียมตัวกระตุ้นไข่ โดยใช้ยาฮอร์โมนเพื่อให้ได้ไข่จำนวนมาก และทำการเก็บไข่ในครั้งเดียว

การแช่แข็งไข่เหมาะกับใคร

  1. ผู้หญิงที่ยังไม่วางแผนที่จะมีลูก โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี
  2. ผู้ป่วยที่กำลังจะได้รับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง ที่กระทบต่อจำนวนและคุณภาพเซลล์ไข่
  3. ผู้ที่มีความผิดปกติของโครโมโซมที่อาจทำให้ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ
  4. ผู้ที่ต้องผ่าตัดรังไข่ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ ช็อคโกแลตซีสต์

อายุเท่าไรควรมาแช่แข็งและฝากเซลล์ไข่

สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเมื่อทำการแช่แข็งไข่ เมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี จะทำให้ได้จำนวนไข่และคุณภาพสูง หากอายุมากขึ้นเท่าไร อัตราการความสำเร็จของการมีบุตรจากการแช่แข็งไข่ จะลดน้อยลง และอาจจำเป็นต้องได้จำนวนไข่มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่ได้ก็จะลดลงด้วย โดยจำนวนไข่ที่แนะนำให้แช่แข็งขึ้นกับอายุของผู้หญิง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 ใบ


ประสิทธิภาพของการเก็บรักษาเซลล์ไข่

การแช่แข็งไข่เปรียบเสมือนกับการหยุดอายุไข่ไว้เท่าอายุตอนที่เก็บไข่ ไม่ให้มากขึ้นไปตามอายุจริง ยิ่งอายุน้อยโอกาสสำเร็จยิ่งสูง โดยเฉลี่ยหลังละลายสามารถนำไข่มาใช้ได้ 80-90% ซึ่งอายุของผู้หญิง ณ วันที่แช่เข็งไข่เป็นตัวแปรสำคัญในการบอกโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์


สามารถเก็บแช่แข็งเซลล์ไข่ ไว้ใช้ได้นานเพียงไร

ตามหลักการ สามารถแช่แข็งไข่ไว้ได้นาน ตราบเท่าที่ยังมีสารรักษาความเย็นที่เพียงพอ ปัจจุบันข้อมูลที่เก็บแช่ไข่ไว้นาน 14 ปี เมื่อนำมาใช้ก็ประสบผลสำเร็จดี โดยทั่วๆ ไปแนะนำให้ใช้ไข่แช่แข็งก่อนอายุ 40-45 ปี เนื่องจากอายุเกินกว่านี้ตั้งครรภ์อาจพบภาวะแทรกซ้อนมาก


ผลข้างเคียงของการรักษาไข่

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เกิดจากการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ ไม่ต่างกับการทำเด็กหลอดแก้ว ได้แก่ อาจเกิดภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากการเก็บไข่ ในขณะที่ความผิดปกติของเด็ก ในแง่ของโครโมโซมหรือความพิการแต่กำเนิดไม่ต่างจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ


Did you Know

การแช่แข็งไข่ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การแช่แข็งแบบ Vitrification อายุที่เหมาะสมต่อการฝากไข่ คือ 34-37 ปี เพราะอายุที่มากกว่านี้ปริมาณและคุณภาพไข่จะลดลง ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บเซลล์ไข่เทียบเท่ากับการทำเด็กหลอดแก้วและยังมีค่าฝากรายปี โดยปกติต้องใช้ไข่ประมาณ 15-20 ใบ เพื่อจะให้ได้ลูก 1 คน

ดังนั้น การกระตุ้นไข่ 1ครั้ง อาจได้ไข่ไม่เพียงพอเซลล์ไข่ที่ถูกแช่แข็ง เปลือกไข่จะหนาและแข็ง จึงจำเป็นต้องใช้วิธี “อิ๊กซี่” (ICSI) ช่วยปฏิสนธิ โดยวิธีนี้คือการเอาเซลล์อสุจิ 1 ตัว ใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ (อสุจิ 1 ตัวต่อเซลล์ไข่ 1ใบ) ตามกฎหมายไทย การฝากไข่ไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนสมรส แต่หากจะนำมาใช้ปฏิสนธิจำเป็นต้องใช้ทะเบียนสมรส






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

บทความทางการแพทย์ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาที่ท่านอาจสนใจเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์ของเราต่อไปโดยไม่ได้ปรับการตั้งค่าใดๆ เราเข้าใจว่าท่านยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ของเรา คลิกเพื่อดูข้อเพิ่มเติม