ผ่าตัดมดลูก ทางเลือกในการรักษาโรคทางนรีเวช
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

การผ่าตัดมดลูก หรือ Hysterectomy คือ การผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออก ซึ่งการผ่าตัดมดลูกเป็นการรักษาที่สำคัญสำหรับภาวะสุขภาพสตรีหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาที่ไม่ร้ายแรงไปจนถึงภาวะมะเร็ง ปัจจุบันมีทางเลือกในการผ่าตัดมดลูกมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากขนาดและลักษณะของโรค สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดังนั้น การเข้าใจเหตุผล ขั้นตอน ผลกระทบ และการดูแลหลังการผ่าตัด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
สารบัญ
การผ่าตัดมดลูกสำหรับโรคทางนรีเวช
การผ่าตัดมดลูกมักถูกพิจารณาเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ประสบผลสำเร็จ หรือเมื่อภาวะสุขภาพในมดลูกส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยโรคและภาวะที่อาจนำไปสู่การผ่าตัดมดลูก ได้แก่
- เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือมีภาวะ ช็อกโกแลตซีส (Chocolate cyst)
- ภาวะเลือดออกผิดปกติจากมดลูก (Abnormal Uterine Bleeding)
- ภาวะมดลูกหย่อน (Uterine Prolapse)
- มะเร็งนรีเวช ต่างๆ เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งท่อนำไข่ เป็นต้น
- ภาวะเจ็บปวดเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน (Chronic Pelvic Pain) ในบางกรณีที่ไม่สามารถระบุสาเหตุอื่นได้ชัดเจน และการผ่าตัดมดลูกอาจช่วยบรรเทาอาการได้
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ตกเลือด
วิธีการผ่าตัดมดลูกที่มีในปัจจุบัน


วิธีการผ่าตัดมดลูกมีหลายแบบ ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ โดยมีวิธีการผ่าตัด ได้แก่
การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy)
เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ใช้กล้องและเครื่องมือขนาดเล็กผ่านแผลเล็กบริเวณหน้าท้อง ขนาดประมาณ 5–10 มิลลิเมตร โดยทั่วไปจะมีแผลผ่าตัดประมาณ 3–4 จุด เครื่องมือเหล่านี้สามารถใช้ในการเลาะตัด เย็บ และห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
หลังจากทำการตัดมดลูกแล้ว แพทย์จะนำมดลูกหรือชิ้นเนื้อออกทางช่องคลอด หรือในบางกรณีอาจนำออกทางแผลหน้าท้อง ซึ่งอาจต้องขยายแผลจากเดิม เช่น จากขนาด 1 เซนติเมตรเป็น 2–3 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถนำชิ้นเนื้อออกได้อย่างปลอดภัย มีข้อดีตรงที่ มีความปลอดภัยสูง ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง มีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวในระยะสั้น สามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด และสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้หลังจากผ่าตัดเพียง 2-3 วัน
การผ่าตัดมดลูกเปิดหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy)
เป็นวิธีการผ่าตัดทางนรีเวชแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการรักษาโรคทางนรีเวชหลายชนิด แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการผ่าตัดที่ทันสมัยกว่า เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง แต่การผ่าตัดเปิดหน้าท้องก็ยังคงมีความจำเป็นในบางกรณี เช่น โรคที่ซับซ้อนและรุนแรง กรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องปลอดภัยและได้ผลดีกว่า ต้องผ่าตัดเอามดลูกออก เป็นต้น การผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง แพทย์จะทำการเปิดแผลที่หน้าท้อง โดยทั่วไปจะเป็นแนวขวางเหนือหัวหน่าว (bikini cut) หรือแนวตั้ง (vertical incision) ขึ้นอยู่กับขนาดของมดลูกและข้อบ่งชี้ เหมาะสำหรับมดลูกที่มีขนาดใหญ่ มีพยาธิสภาพที่ซับซ้อน หรือเมื่อต้องการสำรวจอวัยวะอื่นในช่องท้องอย่างละเอียด
อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดมดลูก
อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดมดลูกนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วิธีการผ่าตัด ขอบเขตของการผ่าตัด สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด และความสามารถในการฟื้นตัวของร่างกาย โดยทั่วไป อาการที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้
อาการที่พบได้บ่อยในช่วงแรกหลังผ่าตัด (ภายใน 1-2 สัปดาห์) ได้แก่
- อาการปวดบริเวณแผลผ่าตัด และอาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณอื่น ๆ แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
- เลือดออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดหรือตกขาวปนเลือดเล็กน้อยในช่วงแรก หากมีเลือดออกมากผิดปกติ ควรรีบแจ้งแพทย์
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ การผ่าตัดอาจส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- อาจมีอาการปัสสาวะลำบาก หรือรู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะในช่วงแรก
อาการที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว (หลัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป) ได้แก่
- อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน ช่องคลอดแห้ง หากรังไข่ทั้งสองข้างถูกนำออก ผู้ป่วยจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนทันที ซึ่งอาจมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการสูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เกี่ยวกับระบบขับถ่าย

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูกควรทำอย่างไร?


การดูแลหลังผ่าตัดมดลูกเบื้องต้น ได้แก่
- ระมัดระวังแผลผ่าตัด ดูแลไม่ให้แผลโดนน้ำ
- สองสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ งดการออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก
- งดออกกำลังกายหนัก ควรรออย่างน้อย 1 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก
- สังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการอักเสบ หรือท้องบวมหลังผ่าตัด เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด ควรรีบปรึกษาแพทย์
อาการหลังผ่าตัดมดลูกเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หากคุณมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเพื่อรับคำแนะนำและการดูแลที่เหมาะสม
หลังผ่าตัดมดลูกยังมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
หลังการผ่าตัดมดลูก แนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังการผ่าตัด หรือบางกรณีอาจนานกว่านั้น เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์เร็วเกินไปอจะทำให้แผลแตก ช่องคลอดฝีเย็บแยก หากมีข้อสงสัยหรือความกังวลใดๆ เกี่ยวกับการกลับมามีเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดโดยตรง
ผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดมีประสิทธิภาพที่ดี
การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ เป็นการตัดสินใจทางการแพทย์ที่สำคัญ ซึ่งมีเป้าหมายหลักทั้งในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับมดลูก และในบางกรณีการปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย และทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างดีที่สุด โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทาง และให้บริการการตรวจรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ด้วยความเข้าใจ ความห่วงใยต่อคุณผู้หญิงทุกคน
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี