เส้นเลือดในสมองตีบ รักษาไม่ทันเป็นอันตรายอาจเสี่ยงเป็นอัมพาต
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

โรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรืออุดตัน ถือเป็นหนึ่งในโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นสาเหตุสำคัญของความพิการและการเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง โรคนี้เกิดจากการที่เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการตีบแคบหรืออุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายภายในเวลาอันสั้น โดยอันตรายจากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบมักมีอาการอย่างฉับพลัน บางรายถึงมือแพทย์ทันเวลาก็อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่บางรายรักษาไม่ทันต้องกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สารบัญ
เส้นเลือดในสมองตีบ คืออะไร?


โรคเส้นเลือดในสมองตีบ คือ ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างหนึ่ง เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบ มักเกิดขึ้นในคนสูงอายุ หรือมีไขมันสะสมในเลือดสูง โดยมักเป็นทีละน้อย จนเมื่อหลอดเลือดตีบมาก หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตัน ส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ จึงทำให้เซลล์สมองตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นสาเหตุของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกที่พบได้บ่อย ภาวะนี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยพิการและเกิดการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบ
- กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะไขมันในเลือดสูง
- กลุ่มที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียด
- ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เพศ มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ หรือประวัติการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตของคนในครอบครัว มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาก่อน เป็นต้น
อาการเส้นเลือดในสมองตีบ
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ อาการเริ่มแรกที่อาจทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ – อัมพาต ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่
- มีอาการชาครึ่งซีก
- อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
- ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็น หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน
- พูดไม่ออก หรือพูดไม่ชัดแบบฉับพลันทันที
- เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก
- มีอาการงุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ข้างต้น
ทั้งนี้อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ในบางรายอาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสมองขาดเลือด แต่อย่างไรหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรรอดูอาการ แต่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็วจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ ลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิตได้

การรักษาโรคหลอดเลือดในสมองตีบ


เส้นเลือดในสมองตีบ วิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยเฉพาะกรณีเส้นเลือดตีบฉับพลัน ได้แก่
การให้ยาละลายลิ่มเลือด
หากผู้ป่วยมีอาการไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงและพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วย ที่สำคัญไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด และผู้ป่วยหรือญาติเห็นประโยชน์มากกว่าข้อเสีย และตัดสินใจให้รักษาด้วยวิธีนี้ โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือด หรือก้อนไขมันที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออก ส่งผลให้หลอดเลือดที่อุดตันนั้นกว้างขึ้น ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
การใช้บอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดคาโรติดและ/หรือใส่ขดลวด (Carotid Angioplasty and Stenting)
การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบ หรืออุดตันด้วยวิธีนี้ โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษา หลังจากตรวจพบว่าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอที่ไปเลี้ยงสมองคาโรติดตีบมากกว่า 50% ร่วมกับมีอาการของอัมพาตชั่วคราว หรืออัมพาตถาวร เช่น ตามองไม่เห็น พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่ตรวจพบว่าเส้นเลือดตีบรุนแรงมากกว่า 60% มีความเสี่ยงต่ออัมพาตสูง โดยวิธีนี้จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น บวกกับการใช้เครื่องไบเพลน (Biplane DSA) เพิ่มศักยภาพในการรักษา และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval)
แพทย์สามารถพิจารณาใช้วิธีนี้ได้ หากเป็นการตีบของเส้นเลือดใหญ่ โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ จนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง โดยอาศัยการเอกซเรย์นำทางบอกตำแหน่ง ด้วยเครื่องไบเพลน (Biplane DSA) เป็นตัวช่วยที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน จากนั้นจะทำการใส่ขดลวดพิเศษขนาดเล็ก (Stent) ผ่านเข้าไปในสายสวนจนถึงตำแหน่งของลิ่มเลือด แล้วทำการปล่อยขดลวดให้ค่อย ๆ กางออกในลักษณะเป็นตะแกรงหลอดเลือดเพื่อเกาะจับลิ่มเลือด แล้วค่อย ๆ นำออกมาผ่านสายสวน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
วิธีการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบและอุดตัน ถือว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปิดหลอดเลือดที่อุดตันได้ถึง 80% ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา ลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยมีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาและอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ
การป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ กลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันเส้นเลือดสมองตีบที่ดีที่สุด คือ การค้นหาความผิดปกติของร่างกายที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนเกินไป
- รับประทานผัก ผลไม้ ป้องกันท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทั้งหวาน เค็ม มัน
- เลิกสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเพื่อทำให้หลอดเลือดแข็งแรง วันละ 30 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรรับยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที
เส้นเลือดในสมองตีบ ฟื้นตัวได้ หากรักษาเร็วและถูกวิธี
เส้นเลือดในสมองตีบเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การตระหนักถึงอาการเตือนและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญในการลดโอกาสการเกิดโรค หากเกิดอาการเตือนที่สำคัญ เช่น ปากเบี้ยว กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง แขนขาก็ไม่มีแรง พูดไม่ชัด ไม่รู้เรื่อง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน มีทีมแพทย์ และพยาบาลเฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมอง ทีมแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมระบบประสาท พร้อมให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง และอาการปวดหัวไมเกรน ที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการฟื้นฟูผู้ป่วย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวที่ดีของผู้ป่วย
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท