โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เส้นเลือดในสมองตีบเป็นอันตราย

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

รคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้ โรคนี้เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากเส้นเลือดในสมองตีบ อุดตันหรือเส้นเลือดแตก ซึ่งส่งผลให้สมองบางส่วนขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เซลล์สมองค่อย ๆ ตายลง หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด (FAST) ให้สงสัยว่าเป็นอาการโรคหลอดเลือดสมอง อย่าวางใจ รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะสมองรอไม่ได้!!! ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.นครธน ยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร เพื่อชีวิตของผู้ป่วย


โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร?


โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร ทำให้เนื้อสมองบางส่วนเสียหายหรือหยุดทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. โรคเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน หรือ Ischemic Stroke คือ ภาวะเกิดจากลิ่มเลือดหรือคราบไขมันไปอุดตันหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด
  2. โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือ hemorrhagic stroke คือ ภาวะเกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดไหลออกไปในเนื้อสมองหรือล้อมรอบสมอง ส่งผลให้เกิดแรงดันในสมองและเนื้อสมองถูกทำลาย

> กลับสารบัญ


สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้เซลล์สมองเสียหายและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา โดยสาเหตุหลัก ๆ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. เส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แล้วเส้นเลือดในสมองตีบเกิดจากอะไร โดยมีสาเหตุดังนี้
    • ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว เกิดจากการสะสมของไขมันและตะกอนต่าง ๆ ที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
    • ลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในหลอดเลือดสมองเอง หรือจากบริเวณอื่นของร่างกายหลุดลอยมาอุดตันหลอดเลือดสมอง
    • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation) ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ และอาจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้
  2. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% แล้วเส้นเลือดในสมองแตกเกิดจากอะไร โดยมีสาเหตุดังนี้
    • ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะบางและแตกได้ง่าย
    • หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm) ผนังหลอดเลือดอ่อนแอและโป่งพอง หากแตกออกจะทำให้มีเลือดออกในสมอง
    • ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองแต่กำเนิด (Arteriovenous Malformation - AVM) หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำเชื่อมต่อกันผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดเปราะบางและเสี่ยงต่อการแตก
  3. สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน อาทิ
    • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะก็อาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตก
    • ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุม
    • ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดโป่งพอง (aneurysm) หรือความผิดปกติของหลอดเลือดแต่กำเนิด (arteriovenous malformation - AVM)

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  • อายุที่มากขึ้น
  • เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง
  • ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • เชื้อชาติ (บางเชื้อชาติมีความเสี่ยงสูงกว่า)
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • โรคอ้วน
  • การขาดการออกกำลังกาย
  • ภาวะเครียด
  • การใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือฮอร์โมนบำบัด

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

โรคหลอดเลือดสมอง มีอาการอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมอง ที่มีเส้นเลือดในสมองตีบ แตก หรืออุดตัน สามารถสังเกตอาการได้ตามหลักอาการสโตรก F.A.S.T ดังนี้

  • F = Face ใบหน้ามีอาการหน้าชา ปากเบี้ยว มุมปากตก กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
  • A = Arm แขน ขา อ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวลำบาก อย่างเฉียบพลัน มักจะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • S = Speech การพูด มีลักษณะพูดไม่ออก ลิ้นแข็ง หรือ พูดไม่ชัดอย่างทันทีทันใด
  • T = Time เวลาที่เริ่มมีอาการ คือ รู้ว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือนับจากเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการปกติเป็นครั้งสุดท้าย และรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรักษา ให้ทันภายใน 4.5 ชม.

> กลับสารบัญ


ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นผลที่ตามมาจากการที่สมองบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยภาวะแทรกซ้อนสามารถแบ่งได้เป็นหลายด้าน ดังนี้

  1. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท
    • อัมพฤกษ์–อัมพาตแขน ขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวไม่ได้
    • สูญเสียการพูดหรือเข้าใจภาษา มักเกิดเมื่อสมองซีกซ้ายได้รับผลกระทบ
    • สูญเสียการทรงตัวหรือการประสานงาน ทำให้เดินลำบาก หกล้มบ่อย
    • ชัก โดยเฉพาะหลัง Stroke ชนิดเลือดออกในสมอง
    • ภาวะสมองเสื่อมหรือสับสน หรืออาจเกิดอัลไซเมอร์ตามมาได้ จากความเสียหายของสมองบริเวณที่ควบคุมความจำและการคิด
  2. ภาวะแทรกซ้อนทางกายภาพอื่น ๆ
    • แผลกดทับ จากการนอนติดเตียงนานโดยไม่ขยับตัว
    • กลืนลำบาก เสี่ยงสำลักอาหารและติดเชื้อในปอด
    • ติดเชื้อทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ พบบ่อยจากการใส่สายสวนหรือการกลืนลำบาก
    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (DVT) โดยเฉพาะขา จากการเคลื่อนไหวน้อย
    • ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกหรือภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
  3. ภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจ
    • ภาวะซึมเศร้าหลัง Stroke พบบ่อยและอาจทำให้การฟื้นตัวช้าลง
    • ความวิตกกังวล หรือ ภาวะเครียดเรื้อรัง
    • การสูญเสียความมั่นใจและการเข้าสังคม

> กลับสารบัญ


การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง

  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น การซักประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น ชา แขนอ่อนแรง พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว ฯลฯ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ตรวจการแข็งตัวของเลือด (กรณีสงสัยมีเลือดออก) ตรวจการทำงานของไตและตับ
  • การตรวจทางภาพถ่ายรังสี เช่น การทำ CT Scan ใช้ดูว่ามีเลือดออกในสมองหรือไม่ สามารถแยกชนิดของ Stroke ได้เบื้องต้น หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) แสดงภาพของสมองได้ชัดเจน เหมาะสำหรับวินิจฉัยระยะเริ่มต้นของโรคหลอดเลือดสมองตีบ

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง


การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จะขึ้นอยู่กับ ชนิดของโรค ว่าเป็นแบบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตก โดยเป้าหมายหลักคือการช่วยชีวิต ลดความเสียหายของสมอง และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก

1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) สามารถรักษาได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA) จะใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ และพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออกเพื่อช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
  • การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) กรณีเส้นเลือดที่ตีบหรืออุดตันเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง เพื่อเปิดรูของหลอดเลือด โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ด้วยเครื่องไบเพลน ดีเอสเอ Biplane DSA ซึ่งเป็นนวัตกรรมการที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำหัตถการได้อย่างแม่นยำ และปลอดภัยต่อผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้ทันท่วงที และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) จะต้องการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันการแตกซ้ำ พร้อมทั้งหาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก กรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมอง โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกภายในสมองและขนาดของก้อนเลือด

> กลับสารบัญ


การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง จะไม่เหมือนเนื้องอกในสมอง หรือ ไมเกรน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง นอกจากการตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว การดูแลสุขอนามัยของตนเองก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตกหรืออุดตันได้ เช่น

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยมาก
  • ลดอาหารรสเค็ม อาหารคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
  • กรณีมีความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • หยุดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำเสมอ

> กลับสารบัญ


โรคหลอดเลือดสมอง รู้เร็ว ป้องกันได้ รักษาทัน

ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.นครธน ยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ตั้งแต่การตรวจคัดกรองค้นหาสาเหตุ ตลอดจนการรักษาอาการต่าง ๆ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาท แพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา และศัลยแพทย์ ที่มีความชำนาญการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมดูแลและรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายผู้ป่วย ตั้งแต่การฝึกกลืน การทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) และการฝึกกล้ามเนื้อมือด้วยหุ่นยนต์ฝึกมือ Hand Robotic ควบคู่กับการกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน TDCS เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย