การนอนหลับของคุณมีคุณภาพหรือไม่ รู้ได้ด้วยการตรวจ Sleep Test

ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก

บทความโดย :

การนอนหลับของคุณมีคุณภาพหรือไม่ รู้ได้ด้วยการตรวจ Sleep Test

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก นอนแล้วกล้ามเนื้อแขน ขา กระตุก นอนกรน หรือแม้แต่หยุดหายใจขณะหลับ คุณควรเข้ารับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ หรือที่เรียกว่า Sleep Test แต่การตรวจ Sleep Test ที่ว่านี้คืออะไร มีขั้นตอนการตรวจอย่างไรบ้าง แล้วก่อนจะมาตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร ไปหาคำตอบกันได้เลย


การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test) สำคัญอย่างไร?

ความผิดปกติในตอนกลางวันหลายประการเกิดขึ้นเนื่องจากกลางคืนนอนได้ไม่ปกติสุขภาพ การนอนหลับที่ไม่ดี เป็นต้นเหตุของอาการนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งหลายคนคิดว่าไม่มีผลอะไร แต่การนอนไม่หลับ หรือการนอนไม่เพียงพอกลับมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะเมื่อนอนแล้วมีอาการกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หรือง่วงนอนผิดปกติในเวลากลางวัน โดยอาการเหล่านี้เป็นการบอกให้รู้ว่าร่างกายของคุณกำลังมีปัญหา และต้องการการรักษา ซึ่งหากปล่อยเรื้อรังอาจเป็นความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กรดไหลย้อน หลอดเลือดสมอง และยังอาจมีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลงก่อนวัยอันควร และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ดังนั้นการตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ (Sleep Test) จึงเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรมองข้าม โดย การตรวจสอบการนอนหลับนั้นจะเป็นการตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับในด้านต่างๆ เช่น การหายใจ คลื่นไฟฟ้าสมองขณะนอนหลับ ซึ่งผลการตรวจที่ได้นั้นจะช่วยวินิจฉัยโรค และประเมินความรุนแรงของโรคได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น การกัดฟันขณะนอนหลับ การกระตุกของขาขณะนอนหลับ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาพิจารณาเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


ผู้ที่ควรมาตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test)

  1. ผู้ที่มีอาการนอนกรนเสียงดังกว่าปกติ และเป็นประจำทุกวัน
  2. ผู้ที่อ่อนเพลีย ล้า หรือง่วงนอนช่วงกลางวันบ่อยๆ
  3. เมื่อคนใกล้ตัวสังเกตเห็นว่า ขณะนอนหลับมีอาการหยุดหายใจเป็นพักๆ หรือมีอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น กัดฟัน ขากระตุกขณะนอนหลับ นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่าย และดิ้นเปลี่ยนท่าบ่อย
  4. ผู้ที่มความดันโลหิตสูง หรือกำลังรักษาความดันโลหิตสูง
  5. ภาวะอ้วน ที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI > 35
  6. ผู้ที่มีความง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ถึงแม้มีชั่วโมงการนอนที่เพียงพอหรือ ผู้ที่มีอาการมึนศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หงุดหงิดภายหลังตื่นนอน ง่วง หลับในขณะขับรถ ความจำถดถอย หลับในขณะประชุม
  7. ผู้ที่มีเส้นรอบวงของคอมากกว่า 43 เซนติเมตรในเพศชาย หรือมากกว่า 41 เซนติเมตรในเพศหญิง
  8. เพศชาย

หากประเมินแล้วว่าเข้าข่ายอาการ 3 ใน 8 ข้อ แนะนำว่าควรเข้ามารับการตรวจ เพื่อวินิจฉัยและหากพบความผิดปกติควรเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ แทนที่จะปล่อยให้เรื้อรัง หรือเลือกทานยาโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง


การตรวจสุขภาพการนอนหลับเป็นอย่างไร

การตรวจสุขภาพการนอนหลับในดรงพยาบาลจะทำการตรวจวัดค่าความผิดปกติตอนนอน ดังนี้

  1. ตรวจวัดลมหายใจ เป็นการตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก พร้อมทั้งตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ เพื่อให้ทราบว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นการหยุดหายใจชนิดไหน ผิดปกติหรืออันตรายมากน้อยเพียงใด
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองขณะนอนหลับ เพื่อให้ทราบถึงระยะการนอนหลับว่ามีการหลับตื้น หลับลึก และระยะหลับฝันมาก-น้อยเพียงใด มีการนอนหลับที่มีคุณภาพหรือไม่ รวมทั้งความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองขณะนอนหลับ
  3. ตรวจเปอร์เซ็นต์ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าขณะนอนหลับ สมอง หัวใจ ขาดออกซิเจนหรือไม่
  4. ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าขณะนอนหลับอัตราการเต้นของหัวใจมากน้อยเพียงใด มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ในช่วงหยุดหายใจ หรือขณะนอนหลับ
  5. ตรวจเสียงกรน เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่า นอนกรนจริงหรือไม่ กรนมาก-น้อยเพียงใด กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน
  6. ตรวจท่านอน เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าในแต่ละท่านอน มีการกรนหรือการหายใจผิดปกติอย่างไร
  7. ตรวจการกระตุก ของกล้ามเนื้อแขนขา และการกัดฟัน

การเตรียมตัวสำหรับการมาตรวจการนอนหลับ

  1. ต้องสระผมให้สะอาดก่อนมารับการตรวจ และห้ามใส่น้ำมันหรือครีมที่ผม เพราะการติดอุปกรณ์ที่หนังศีรษะ จำเป็นต้องให้บริเวณที่ติดอุปกรณ์ไม่มีไขมัน เพื่อให้สัญญาณกราฟคมชัด และสามารถอ่านระดับการนอนหลับได้ถูกต้อง
  2. งดทาแป้งหรือครีมที่บริเวณใบหน้า คอและขา เพื่อทำให้อุปกรณ์ที่ติดอยู่ได้นานตลอดทั้งคืน
  3. งดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาตรวจ เพราะจะทำให้คุณภาพของการนอนหลับผิดปกติไป ยกเว้น ในรายที่ดื่มเป็นประจำ และต้องให้แพทย์ที่ทำการรักษารับทราบก่อนทำการตรวจ
  4. งดรับประทานยาระบายหรือยานอนหลับ ก่อนมารับการตรวจเพราะจะทำให้การนอนตรวจไม่ต่อเนื่อง ในรายที่รับประทานยาระบาย และในรายที่รับประทานยานอนหลับจะทำให้การนอนหลับไม่เป็นตามการนอนปกติที่ควรเป็น ยกเว้นในรายที่แพทย์อนุญาตเท่านั้น
  5. ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต และยารักษาโรคอื่นๆให้รับประทานได้ตามเดิม และกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบทุกครั้ง
  6. ทางโรงพยาบาลจะนัดท่านมารับผลการตรวจและพบแพทย์หลังจากการทำการตรวจ

สรุปแล้ว การนอนกรนนอกจากจะผลเสียต่อสุขภาพของตนเองแล้ว ยังเกิดเสียงดังรบกวนต่อคนรอบข้างด้วย ซึ่งผู้ที่มีอาการนอนกรนอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วย เมื่อมีภาวะหยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าปกติ รวมทั้งมีการตื่นตัวของสมองเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ ส่งผลให้การนอนหลับพักผ่อนไม่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่โรคร้ายแรงในระยะยาว ดังนั้นอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม สนใจสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย