Off-Pump CABG ผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

Off-Pump CABG ผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น

การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจมีอยู่ 2 วิธีหลัก โดยหนึ่งวิธีคือการผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) หรือหัวใจไม่หยุดเต้น ซึ่งส่งผลดีกับผู้ป่วยค่อนข้างมาก เนื่องจากหัวใจไม่ต้องหยุดเต้นในขณะผ่าตัด จึงลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแบบใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมที่หัวใจต้องหยุดเต้นได้ทั้งหมด ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เร็ว



การผ่าตัดบายพาสหัวใจคืออะไร

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตันให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยเส้นเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน

แต่เดิม การผ่าตัดบายพาสหัวใจจะใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (On-Pump CABG) มาช่วยในการทำงานเพื่อให้หัวใจหยุดเต้นโดยศัลยแพทย์หัวใจจะทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) หรือหัวใจไม่หยุดเต้น โดยใช้เครื่องมือช่วยให้บริเวณผ่าตัดหยุดนิ่งพอที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้

> กลับสารบัญ


รู้จักการผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม

การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) หรือหัวใจไม่หยุดเต้น โดยที่ศัลยแพทย์จะไม่หยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษในการสูบฉีดเลือด เป็นการผ่าตัดแบบหัวใจยังเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer เกาะยึดหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังเต้นเป็นปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม

โดยขั้นตอนการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยจะถูกดมยาสลบ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดตรงบริเวณหน้าอกลงไปและตัดเส้นเลือดที่ปกติและมีคุณภาพ เช่น เส้นเลือดดำบริเวณขา หรือเส้นเลือดแดงบริเวณแขน มาทำทางเบี่ยงข้ามหลอดเลือดแดง ในบริเวณที่ตีบ หรือ อุดตัน เมื่อได้เส้นเลือดที่ดีที่สุดแล้ว แพทย์จะต่อเชื่อมเข้ากับเส้นเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า) ไปยังส่วนปลายของเส้นเลือดแดงหัวใจที่มีการอุดตัน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพียงพอ

> กลับสารบัญ


ก่อนทำผ่าตัดบายพาสหัวใจ แบบ Off-pump CABG เตรียมตัวอย่างไร

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (Off-pump CABG) ผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหาร และยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  2. ผู้ป่วยงดการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  3. ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด โดยทีมศัลยแพทย์หัวใจและวิสัญญีแพทย์
  4. ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเช็คร่างกายก่อนการผ่าตัด ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด และเจาะเลือดตรวจสำหรับเตรียมเลือดสำรองไว้
  5. ผู้ป่วยเข้าพักที่โรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกาย

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบ Off-pump CABG

  1. ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามการรักษา หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน
  2. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด
  3. เมื่อแผลหายสนิทประมาณ 10 วันหลังผ่าตัด สามารถอาบน้ำได้
  4. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  5. เลิกสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  6. ห้ามยกของหนักเกิน 2 กิโลกรัม
  7. งดขับรถ 6 สัปดาห์
  8. สามารถทำกิจกรรมปกติที่ไม่ต้องออกแรง ได้ภายใน 2 เดือน และสามารถกลับไปเล่นกีฬา ออกกำลังกายโดยใช้แรง ได้ภายใน 4-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของร่างกายเป็นหลัก
  9. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลและน้ำตาลสูง ปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืช หรือให้วิธีลวก ต้ม นึ่ง และอบแทน การทอด

> กลับสารบัญ


ข้อดีของการผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม

การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) หรือหัวใจไม่หยุดเต้นนั้นเหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงสูง ผู้ป่วยที่มีหลายโรคแทรกซ้อน โดยมีข้อดีดังนี้

  • ลดการเกิดอัมพาต เนื่องจากการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจทำให้เศษไขมันที่เกาะอยู่ หรือฟองอากาศเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม อาจหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งถ้าหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของสมองอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้
  • ไม่เกิดการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย เนื่องจากเลือดทั้งหมดในร่างกายต้องออกมาผ่านเครื่องปอดหัวใจเทียม เพิ่มเติมออกซิเจนแล้วให้กลับไปในตัวผู้ป่วยใหม่ รวมทั้งร่างกายยังกระตุ้นสารเคมี จึงทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น
  • ไม่เกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด และการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
  • เสียเลือดน้อย เนื่องจากการไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม จะให้ยาละลายลิ่มเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่า การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมในการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีผลต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด
  • ลดอัตราการเสียชีวิตหลังผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
  • ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง เนื่องจากเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีน้อยกว่ามาก

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ด้วยวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) จะไม่แตกต่างกับการผ่าตัดแบบหัวใจหยุดเต้น (On-Pump CABG) ซึ่งสิ่งสำคัญ การเลือกผ่าตัดรักษากับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธนมีความพร้อมของแพทย์ผู้ชำนาญและมากประสบการณ์ทางด้านหัวใจ ตลอดจนมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจในการผ่าตัด เห็นผลดี และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย