ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภัยร้ายที่ไร้สัญญาณเตือน

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภัยร้ายที่ไร้สัญญาณเตือน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันพบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา มักจะพบได้บ่อยในขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญาณเตือน และเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที หากปล่อยไว้นานโอกาสรอดชีวิตจะลดลง


ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร?

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ การสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกะทันหัน จากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือเต้นพริ้ว (Ventricular fibrillation หรือ VF) ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยจะหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตได้ทันที


สาเหตุของการเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่อายุ 35 ปีขึ้นไปมักเกิดจาก โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เมื่อหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจหยุดเต้นตามมา
  • ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปีส่วนใหญ่เกิดจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด วงจรไฟฟ้าในหัวใจที่ผิดปกติทำให้เกิดโรคไหลตาย
  • มีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง
  • สูบบุหรี่

สัญญาณเตือน

ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มีชีพจร หรือไม่หายใจ โดยอาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจไม่มีอาการใดๆ เป็นสัญญาณนำมาก่อน แต่ในบางคนอาจพบอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณก่อนจะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่ตัวผู้ป่วยมักไม่ได้สังเกต เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีอาการแน่นหน้าอก เวลาที่มีภาวะเครียด หรือเวลาออกแรง พักแล้วจะดีขึ้น



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ประเมินความเสี่ยง ด้วยการตรวจสุขภาพ

การที่เราจะทราบได้ว่ามีความเสี่ยงเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือไม่ คือ การเข้ามารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง ดังนี้

  • ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้ทราบ ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า เรามีโรคเหล่านี้หรือไม่ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคร่วมด้วย พร้อมทั้งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) และ การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นต้น>/li>
  • ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี นั้นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดจากแพทย์เป็นหลัก เพื่อค้นหาว่า มีโรคความผิดปกติโดยกำเนิดหรือไม่ซึ่งอาจจะยังไม่แสดงอาการ

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที

เมื่อพบเห็นผู้ที่มีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ควรดูว่าหมดสติ มีชีพจร หายใจอยู่หรือไม่ คนที่หมดสติ ทรุดลงไป อาจจะเป็นจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และจำเป็นต้องได้รับการกู้ชีวิตทันที พร้อมเรียกรถพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือเรียก “1669” โดยผู้ที่มีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น ให้ทำการ CPR เพื่อให้ผู้ป่วยหัวใจเต้นและหายใจอีกครั้ง โดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ใช้สันมือวางตรงกึ่งกลางหน้าอกหรือกึ่งกลางระหว่างราวนมของผู้ป่วย จากนั้นนำมืออีกข้างวางไว้ด้านบนแล้วเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วยให้ได้ความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 100–120 ครั้งต่อนาที หรือมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) อยู่ก็ให้รีบทำการช่วยชีวิตก่อน

เมื่อแพทย์มาถึงจะรักษาต่อด้วยการปั๊มหัวใจและใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ร่วมกับการให้ยาบางชนิดเพื่อกระตุ้นสัญญาณชีพของผู้ป่วย เมื่อสัญญาณชีพของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้หัวใจผู้ป่วยเต้นในจังหวะปกติหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นซ้ำ พร้อมค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและรักษาตามสาเหตุ

การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกจากการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีแล้ว ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เช่น งดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 150 นาที ทั้งนี้หากมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีอาการแน่นหน้าอก เกิดขึ้นให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาอย่างตรงจุดและทันท่วงที




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย