รักษาเส้นเลือดหัวใจตีบด้วย บอลลูนหัวใจ&บายพาสหัวใจ มีขั้นตอนการทำและข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

รักษาเส้นเลือดหัวใจตีบด้วย บอลลูนหัวใจ&บายพาสหัวใจ มีขั้นตอนการทำและข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนอกจากการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง อาทิ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยารักษาหลอดเลือดแข็ง และยาควบคุมไขมันแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 70% มีอาการมาก หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย การใช้ยาอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาโรค ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ หรือ การทำบายพาสหัวใจ ซึ่งหลายคนคงได้ยินการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย 2 วิธีนี้อยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่า 2 วิธีการรักษานี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ไปทำความเข้าใจกัน


ความแตกต่างระหว่างทำบอลลูนหัวใจ VS บายพาส

  • การทำบอลลูนหัวใจ หรือ การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นการดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด และค้ำยันด้วยขดลวดถ่างขยาย ด้วยการสอดสายสวนหัวใจเข้าไปทางหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
  • การผ่าตัดบายพาส เป็นการผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยหลอดเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน

ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจ VS บายพาส

  • การทำบอลลูนหัวใจ มีขั้นตอนในการรักษาด้วยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายออก เบียดคราบไขมัน คราบหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลงและขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง
  • การผ่าตัดบายพาส โดยผู้ป่วยจะต้องดมยาสลบ จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดตรงบริเวณหน้าอกลงไปและตัดหลอดเลือดที่ปกติ เช่น หลอดเลือดดำบริเวณขา หรือหลอดเลือดแดงบริเวณแขน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือด เมื่อได้หลอดเลือดที่ดีที่สุดแล้ว แพทย์จะต่อเชื่อมเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า) ไปยังส่วนปลายของหลอดเลือดแดงหัวใจที่มีการอุดตัน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพียงพอ

ข้อดี-ข้อเสียระหว่างบอลลูนหัวใจ VS บายพาส

การทำบอลลูนหัวใจ ไม่ต้องผ่าตัด มีขั้นตอนที่ง่าย ความปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ในทันที โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบ ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า นอกจากนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกังวลกับอาการภาวะหัวใจขาดเลือด สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงอีกในอนาคต

การผ่าตัดบายพาส มีขั้นตอนที่ยากกว่าเพราะต้องทำเส้นหลอดเลือดเบี่ยงใหม่ให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ผู้ป่วยใช้เวลารักษาตัวหรือพักฟื้นในโรงพยาบาลนานประมาณ 7-10 วัน ถึงจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำบอลลูนหัวใจ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงในการรักษา แต่โอกาสกลับมาป่วยซ้ำน้อยกว่าการทำบอลลูนหัวใจ


โอกาสการป่วยซ้ำระหว่างบอลลูนหัวใจ VS บายพาส

  • การทำบอลลูนหัวใจ หากไม่ได้ใส่ขดลวดถ่างขยาย โอกาสที่หลอดเลือดเกิดการตีบตันขึ้นได้ประมาณ 30-40% แต่หากใส่ขดลวดเคลือบยา หลอดเลือดจะมีโอกาสกลับไปตีบตันประมาณ 10% ทั้งนี้โอกาสการเกิดตีบตันของหลอดเลือดซ้ำขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยหลังทำบอลลูนหัวใจ และการดำเนินชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และอุดตัน
  • การผ่าตัดบายพาส โอกาสกลับมาป่วยซ้ำน้อยกว่าการทำบอลลูนหัวใจ โดยหลอดเลือดในการทำบายพาสนั้นจะมีอายุการใช้งาน ในกรณีใช้ “เส้นเลือดดำ” จะมีอายุใช้งานอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 50% หากใช้ “เส้นเลือดแดง” หลอดเลือดจะมีอายุใช้งานอยู่ที่ 10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 5-10%
อย่างไรก็ตาม ข้อพิจาณาในการรักษาด้วยบอลลูนหัวใจ หรือบายพาสนั้น แพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรค สุขภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วย รวมถึงความซับซ้อนของรอยโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้หากมีอาการที่เข่าข่าย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ ให้รีบเข้าพบแพทย์ตรวจอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย