รู้ทันก่อนรักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

รู้ทันก่อนรักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการปวดหลัง ปวดคอ และอีกหลายอาการปวดตามร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน แต่หากเมื่อไหร่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้การรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดไม่ได้ผลดีนัก และจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดช่วยในการรักษาแทน


หมอนรองกระดูกคืออะไร?

โครงสร้างของร่างกายเรานั้นประกอบไปด้วยกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น แต่จะชิ้นก็จะมีส่วนประกอบของข้อต่อที่มีองศาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของกระดูกชิ้นนั้นๆ เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยในส่วนของกระดูกสันหลัง จะมีหมอนรองกระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังทุกข้อตั้งแต่คอถึงเอว ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก และยืดหยุ่นเวลาเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ หากไม่มีหมอนรองกระดูกสันหลัง จะก้ม เงย หรือเคลื่อนไหวหลังได้ไม่สะดวก หมอนรองกระดูกจะมีทั้งหมด 23 ชิ้น รูปร่างกลมรี ขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับรูปร่างของกระดูกสันหลังตำแหน่งนั้นๆของร่างกาย เช่น คอ อก หรือเอว


หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้อย่างไร?

สาเหตุการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหลักๆ มาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ กัน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การขับรถนาน การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ หลังเป็นประจำ อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจากการชอบก้มหลังพร้อมบิดตัว หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ จนทำให้เกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลัง และจะค่อยๆ ดันตัวและปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง


พฤติกรรมเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. ก้มเงยบ่อยๆ หรือมากเกินไป
  2. ยกของหนักซ้ำๆ ท่าเดิม
  3. ผู้ที่มีอาชีพต้องทำงานอยู่ในบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนบ่อยๆ เช่น เขตก่อสร้าง
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือขาดการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
  5. การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบท เช่น ผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การนั่ง หรือยืนทำงานในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง และนานมากกว่า 2 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการขับรถระยะทางไกลโดยไม่พัก เป็นต้น


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ส่งผลกระทบต่อหลายส่วนในร่างกาย ได้แก่

  • อาการที่หลัง หากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเกิดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง จะมีอาการปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่าง สะโพก และมักปวดร้าวลงขา อาจมีอาการที่หลังเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มักมีอาการในท่านั่ง หรือมีการนั่งงอตัวไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุด แต่ถ้าหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเกิดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอและร้าวลงแขน
  • อาการที่ขา ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือขาอ่อนแรง
  • อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง เช่น มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ เป็นต้น
  • มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง

การตรวจวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังที่ต้นเหตุได้


การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้และความรุนแรง หรือระดับการกดทับเส้นประสาท รวมถึงระยะเวลาของการเกิดอาการ โดยทั่วไปจะมีการรักษา 3 แบบ คือ

  1. การรักษาแบบประคับประคอง การให้ยาลดอาการปวด ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของตัวเส้นประสาท และการทำกายภาพเพื่อให้หมอนรองกระดูกหดกลับเข้าไปได้ มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าต้องได้รับการรักษาโดยวิธีอื่น
  2. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง เป็นยาที่ผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังหรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบ และช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
  3. การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) โดยการสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดซึ่งมีขนาดเพียง 7.9 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วย สามารถเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด โดยทั่วไปการผ่าตัดจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคอง ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยส่วนใหญ่เป็นแล้วหายเองได้ด้วยกลไกตามธรรมชาติ ความเจ็บปวดแม้จะรุนแรงในช่วงแรกแต่มักจะดีขึ้นเป็นลำดับ การเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ ทำให้ผลการรักษาดีกว่า เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง อย่าทนกับอาการปวดที่เกิดขึ้น เพราะการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้กลับไปดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้เหมือนเดิม




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย