หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หนึ่งในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หนึ่งในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ AF (Atrial Fibrillation) เป็นหนึ่งในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรงที่สุด โดยโอกาสของการเกิดภาวะนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับโรคหัวใจชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจลดลง และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือ หัวใจวายได้ ดังนั้น หากรู้สึกว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบไปพบแพทย์


รู้จัก ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ AF (Atrial Fibrillation) เป็นภาวะที่มีการกระตุ้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ถือว่าเป็นอาการหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจห้องบนที่รุนแรง โดยผู้ที่มีภาวะนี้อาจมีอัตราการเต้นของหัวใจถึง 400 ครั้งต่อนาที ทำให้เกิดผลแทรกซ้อน คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ลดลง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด และการทำให้เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนสามารถก่อให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า จึงมีผลทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่จะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า

> กลับสารบัญ


สาเหตุภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

สาเหตุภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพราะความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ แต่สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่านั้นมาจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่บางรายอาจเป็นมาแต่กำเนิด คือ มีสิ่งกีดขวางเกิดขึ้นภายในจนทำให้คลื่นไฟฟ้าไม่สามารถเดินทางได้เป็นปกติ โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ ได้แก่

  1. โรคหัวใจหรือความผิดปกติของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ้นหัวใจรั่ว ตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจทำงานล้มเหลว ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) ได้ทั้งสิ้น
  2. โรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคสมองขาดเลือด โรคไตเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
  3. พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น สารคาเฟอีนในกาแฟ ชา โสม แอลกอฮอล์ รวมทั้งการสูบบุหรี่
  4. ภาวะเครียดทางกายและใจ จากการทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  5. อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเสี่ยงสูงสุดที่อายุ 80-90 ปี

> กลับสารบัญ


อาการสำคัญของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

อาการอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจไม่มีอาการ โดยอาการสำคัญของผู้ที่เป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนี้ คือ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ อ่อนเพลีย เจ็บหรือแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามช่วงระยะของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วตั้งแต่เป็นแบบชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ ไปจนถึงการเป็นอย่างถาวร โดยผู้ที่เป็นระดับถาวร หัวใจจะมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติจนไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้อีกต่อไป ทำได้เพียงรักษาสภาพให้ใกล้เคียงปกติเท่านั้น

โดยอาการที่เกิดขึ้นของหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว สามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดได้แก่

  • การเกิดขึ้นครั้งแรก โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรก
  • การเกิดเป็นครั้งคราว ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เกิดขึ้นและกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติได้เอง ส่วนใหญ่ภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจเป็นนานได้ถึง 7 วัน
  • การเกิดอย่างสม่ำเสมอ โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน หรือไม่สามารถกลับมาเต้นเป็นปกติได้เอง ต้องได้รับการรักษา
  • การเกิดอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่เป็นต่อเนื่องมานานกว่า 12 เดือน ซึ่งจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลับมาเต้นเป็นปกติ
  • การเกิดขึ้นถาวร โดยมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอย่างถาวร และไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงรับการรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

> กลับสารบัญ


วิธีวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ไตวาย ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) การทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการน
  • การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อย แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา

> กลับสารบัญ


การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

วัตถุประสงค์หลักในการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ การรักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย อาการ อาการแสดง โรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ร่วมด้วย และชนิดของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นต้น โดยการรักษามี 2 แนวทาง ดังนี้

1. การรักษาแบบควบคุมอาการ เพื่อลดอาการให้น้อยที่สุดหรือไม่รุนแรง ได้แก่ 1.1 การใช้ยาในกลุ่มที่ปรับแก้จังหวะการเต้นของหัวใจ (Antiarrhythmic drugs) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ ในกรณีนี้ยาไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ ในบางกรณีอาจต้องใช้ยาร่วมกับ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (cardioversion) ในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ

1.2 การใช้ยาในกลุ่มที่ควบคุมการเต้นของหัวใจขณะที่หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วให้ช้าลง (Rate Controlling Drug)เพื่อลดอาการและโรคแทรกซ้อนที่เกิดจาก AF โดยไม่ได้มุ่งหวังให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีก ในกรณีนี้ต้องให้ยาในกลุ่มที่ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดร่วมไปด้วย

2. การรักษาเพื่อให้หายขาด ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการใช้สายสวนหัวใจเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจด้วยการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง วิธีการ คือ แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ จากนั้นจะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น

รูปแบบของการจี้ไฟฟ้าหัวใจรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ AF ได้แก่ 2.1 การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบ CARTO (CARTO System) เป็นการหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ และใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติของการเต้นของหัวใจและการลัดวงจรที่เกิดขึ้นด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

2.2 การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ แบบเย็นจัด (Cryoablation) เป็นการใช้พลังงานความเย็น เพื่อจี้ทำลายวงจรที่ผิดปกติแทนพลังงานความร้อน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างได้ ไม่มีอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเนื้อเยื่อภายใน และระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาลดลง

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ สามารถป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงได้ โดยเริ่มจากการดูแลตนเอง ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ หากรู้สึกว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติไม่เหมือนเดิม ร่วมกับมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือมีอาการเจ็บหน้าอกควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย